บันทึกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2551

 

วีรวัฒน์ กนกนุเคราะหเป็นชาวราศีพิจิก วันเดือนปีเกิดคือมีความอัศจรรย์ในความบังเอิญที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขแฝงอยู่

เรียนหนังสือจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ด้วยทุนของโรงเรียน มี “แวว” เป็น “ครู” และเป็น “นักเขียน” ตั้งแต่เด็ก ชอบเกณฑ์เพื่อนเด็กแถวบ้านกับหมา แมว อีก 3-4 ตัวมานั่งเรียนเป็นนักเรียนมีลงโทษเพื่อนที่ไม่ตั้งใจเรียนโดยให้ยืนขาเดียว และคาบไม้บรรทัดไว้ในปากอีกต่างหาก

ประมาณประถมศึกษาปีที่ 6 ส่ง “เรื่องสั้น” และ “แต่งเรื่องจากภาพ” ไปลงที่สตรีสารภาคพิเศษ เรื่องได้รับการตีพิมพ์เป็นที่ฮือฮากันทั้งห้อง เพราะมีชื่อตัวเองและชื่อโรงเรียน พร้อมผลงานปรากฏอยู่ เจ้าตัวก็เลยยิ้มหน้าบาน ตั้งแต่เช้าจนดึก จำได้ว่าตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับ ได้หนังสือเรื่อง “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม 1 และ 2” ของ “ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ” เป็นรางวัล เรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตคือเรื่อง “สวนทาง”

รับทุนการศึกษาพิเศษ “พสวท.” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นได้รับทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ และทุนวิจัยพิเศษจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ จนจบหลักสูตรปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อเรียนหนังสือจบ แม่บังคับให้ “หา” งาน “ประจำ” ทำ จึงสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ผ่านเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บรรจุตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2534 ตอนแรกกะว่าจะอยู่สอน เอาใจ “แม่” สักสองปีคงเพียงพอแล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าจะ “ลาออก” มาเป็น “นักเขียนอาชีพ” และนักประพันธ์ “หญ่าย”

แล้วด้วยบุญหรือกรรมอะไรก็ไม่ทราบ สามารถ “อึด” ทนเป็นลูกจ้างประจำมาได้ถึง 17 ปีเต็ม (ทำเรื่องลาออกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2550 แต่มีผลเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551) รู้สึกว่าเวลาในบทบาท “ครู” ช่างรวดเร็วเหลือเกิน ยิ่งกว่า “ติดปีกบิน” เสียอีก (แสดงว่ามีความสุข)

ตอนเป็นอาจารย์ประจำ ทำหน้าที่หลักคือ สอนหนังสือ บริการให้ความรู้ในวิชามนุษย์กับสภาพแวดล้อม (ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป) แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 ในหลายคณะ อาทิ นิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บัญชี บริหารธุรกิจ ศิลปกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

ลาออกจากลูกจ้างประจำด้วยหลายสาเหตุรวมกัน ใช้เวลาในการตัดสินใจลาออกเพียงคืนเดียว

เป็นคนสอนหนังสือสนุกสนาน บรรยาย “ยาก” ให้กลายเป็น “ง่าย” เพียบทั้งสาระ คติธรรม และเฮฮา เพื่อให้ลูกศิษย์มีความสุขและเกิดความเข้าใจในขณะเข้าฟังคำบรรยาย ลูกศิษย์จะได้มีความรู้เต็มที่ “คิด” มากกว่า “ท่องจำ”

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้รับการโหวตให้เป็น “คุณครูในดวงใจ” มาโดยต่อเนื่อง

นับเวลาการทำงานประจำแล้วจะว่าสั้นก็สั้น แต่จะว่ายาวก็ใช่ 17 ปีนานไม่ใช่น้อย (คิดแล้วก็งงตัวเองอยู่เหมือนกัน ไม่รู้อยู่มานานขนาดนี้ได้ยังไง)

ปัจจุบันลาออกมาเพื่อยึดอาชีพ “นักประพันธ์” เป็นหลัก เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และแฟนตาซีที่ทำต้นฉบับด้วยดินสอ 2B

ประสบการณ์การเขียนหนังสือ รวมเวลา23 ปี (พ.ศ.2551) มีผลงานวรรณกรรมทุกประเภท ตั้งแต่บทความ บทความเชิงวิชาการ รวมเรื่องสั้น ตำราวิชาการ (10 เล่ม) สารคดี ปกิณกะ หัสคดี ท่องเที่ยว นิยายชุด นิยายวิทยาศาสตร์ นิยายแฟนตาซี และการ์ตูนวิทยาศาสตร์ รวมทั้งหมด 98 เล่ม (พ.ศ.2551) มีบทความและบทความทางวิชาการมากกว่า 2,000 เรื่อง งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพตีพิมพ์แล้ว 11 เรื่อง (อยู่ระหว่างทำวิจัย 2 เรื่อง) เดินทางท่องโลกมาแล้ว 94 ประเทศ

งานมาสเตอร์พีซ คือ เด็กหลอดแก้ว, พิจิก, ดีเอ็นเอ, เร้นพลบ, กลมนุสส์, คมสังหรณ์, ซากดอกไม้ และด้ายสีม่วง

ผลงานที่เคยได้รับรางวัลอาทิ พิจิก, รังสีมรณะ, สะพานเชื่อมฝัน, การ์ตูนชุด “โลกอนาคต” 4 เล่มชุด

นิยายวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 88 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ คือ ดีเอ็นเอ

ผลงานล่าสุดที่กำลังจะวางตลาดคือ “ห่วงจำแลง”

อาชีพปัจจุบันคือ “นักเขียนอาชีพ” นักวิจัย นักวิชาการอิสระ วิทยากร อาจารย์พิเศษ และมีอีก 2 งานที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ตอนนี้ (เหตุผลส่วนตัว)

งานเขียนที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส ใน 2 เวอร์ชัน คือ ความเรียง และนวนิยาย (ไม่นานเกินรอ)

งานวิจัยที่กำลังทำร่วมกับนักวิชาการอื่น คือ “การค้นหาตัวยาใหม่เพื่อใช้ต่อต้านและกำจัดเซลล์มะเร็ง ในระบบทางเดินอาหาร”

ชีวิตโดยรวมมีความสุขดีตามอัตภาพ

 

Photobucket
 
 
 
 ประวัติ 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์'