จรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์
(ต่อ)
จะมีใครเคยนั่งว่าง ๆ แล้วคิดถึงประเด็นเหล่านี้ว่า กำลังสร้างความท้าทายในเรื่องของชีวจริยธรรมมากน้อยเพียงไร
อาทิ
กว่าจะได้สารเคมีสักเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการจากไข่ไก่มาเป็นลูกเจี๊ยบ และไก่ตัวโตเต็มวัยนั้น ต้องทำลายไข่ไก่ไปกี่ฟอง ? และลูกเจี๊ยบตายไปกี่ตัว?
เอียน วิลมุต เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่สามารถทำโคลนนิงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสำเร็จ ซึ่งก็คือ แกะดอลลี นั่นเอง แต่เคยคิดไหมว่ากว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้ เอียน วิลมุต ได้ลงมือ ฆ่า หรือ ทรมาน หนูทดลอง ไปทั้งสิ้นกี่ตัว?
แล้วไหนยังจะ แกะทดลอง อีก เขา เบียดเบียน แกะจำนวนกี่ตัว?
มีใครเคยคิดแบบเราบ้างไหม !?!
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการทดลองเพาะอวัยวะมนุษย์บนหลังหนู ที่ทำสำเร็จเป็นข่าวครึกโครม คือ การปลูกหูของมนุษย์จริง ๆ ขึ้นบนหลังหนูได้สำเร็จ แว่วว่าจะขยายไปปลูกอวัยวะอื่น ๆ อีก เพื่อเตรียมการไว้เป็น อะไหล่มนุษย์ ในโลกอนาคต
มีใครสักคนเคยฉุกใจคิดบ้างไหมว่า กว่าจะถึงขั้นตอนนี้ หนูเจ็บไปกี่ตัว ? ตายไปกี่ตัว? และกำลังรอความตายอยู่อีกกี่ตัว!?!
หนูทดทอง ประเภทหนึ่งคือ หนูไร้ขน ซึ่งมีไว้เพื่อการทำการทดลองเกี่ยวกับมะเร็งโดยเฉพาะ หนูไร้ขน ผิวยู่ย่นพวกนี้มีผิวหนังและร่างกายที่มีลักษณะพิเศษคือ ยอมให้มะเร็งมีพัฒนาการได้ในทุกส่วน เท่าที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ
จริงอยู่ มันเป็นเพียง หนูทดทอง เคยคิดไหมว่า มันเจ็บปวด ทุกข์ทรมานเพียงใด แล้วกว่ามันจะตาย คุณอาจหุบยิ้ม ถ้าเป็น คุณ ทดลอง
นี่คือ คำถามเพื่อนำไปสู่ความตระหนักในจริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงคำถามที่อยากทราบว่า ตรงไหนคือจุดแห่งความพอดี และตรงไหนจึงจะเรียกว่าการก้าวล่วงผ่านพรมแดนเข้าสู่การละเมิดสิทธิแห่งชีวจริยธรรม คุณตอบได้หรือไม่ ?!
และเมื่อทดลองหรือวิจัยสำเร็จแล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเขียนบทความวิจัย เพื่อนำลงตีพิมพ์เผยแพร่ ถ้าคุณเป็นคนทำทุกอย่าง กระทั่งผลงานของคุณถูกตีพิมพ์ไปแล้ว แต่วันใดวันหนึ่ง
ผลงานในรูปแบบบทความวิจัยของคุณถูก มือดี ลอกไปดัดแปลงบางส่วน พร้อมกับใส่ชื่อลงไปเป็นของเขาผู้นั้น คุณจะทำอย่างไรต่อไป !?!
รู้สึกหรือยังว่า จริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์เป็น สิ่ง สำคัญ !!!
ดังนั้น จรรยาบรรณ หรือ ข้อกำหนดในการทำความดีของนักวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการมีความสุจริต ซื่อตรงต่อวิชาชีพ ซึ่งใช่ว่าจะทำได้ง่าย เหมือนเขียน เพราะตัวเรามีความเชื่อว่า คนจะดีหรือเลวนั้นมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของคนคนนั้น อาจบอก แนะนำหรือสอนสั่งกันได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี จะขอบันทึกจรรยาบรรณที่นักวิทยาศาสตร์พึงมีไว้ ณ ที่นี้ เพื่ออาศัยแนวทาง แนวปฏิบัติ โดยอ้างอิงจากคณะทำงานยกร่างจรรยาบรรณนักวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดังนี้
1. นักวิทยาศาสตร์พึงมีความซื่อตรงและซื่อสัตย์ในทางวิชาการ
2. นักวิทยาศาสตร์ต้องมีความรับ ผิด ชอบ ต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช ครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทั้งหลาย
3. นักวิทยาศาสตร์ต้องมีพื้นความรู้ดีพอในเรื่องที่วิจัย
4. นักวิทยาศาสตร์ต้องรับผิดชอบต่อพันธกรณีกับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนับสนุนการวิจัย
5. นักวิทยาศาสตร์ต้องไม่มีความลำเอียง หรืออคติในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และตีความข้อมูล รวมทั้งมีความอิสระทางความคิด
6. นักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณธรรม และเคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นตัวอย่างในการวิจัย
7. นักวิทยาศาสตร์ต้องมีใจกว้าง รับฟัง และเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
8. นักวิทยาศาสตร์พึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
9. นักวิทยาศาสตร์ต้องมีสำนึกต่อสังคมและประเทศชาติ
ทั้งหมดนี้ คือ จรรยาบรรณที่นักวิทยาศาสตร์ ต้อง ทำงานของตนให้อยู่ภายในกรอบขอบเขตที่สร้างสรรค์ และไม่เบียดเบียนชีวิตของเพื่อนมนุษย์คนอื่น รวมทั้งสิ่งมีชีวิตด้วย
มีต่อ |