คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
สวัสดีครับ คุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน
ผมเชื่อว่า นับแต่คุณรู้ความ สนใจการอ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์ หรือฟังวิทยุ คุณคงได้ยินชื่อ แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ผ่านหูผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย
ถ้าเทียบความดังในยุโรปและแถบอเมริกาแล้ว แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ก็นับว่าดังไม่เป็นรองใคร - สูสีกับนอสตราดามุส มุสโสลินี ฮิตเล่อร์ เช็คสเปียร์ หรือ เชอร์ ล๊อค โฮล์มนั่นแหละครับ
แต่ดูเหมือนว่า รายละเอียดของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ในภาคภาษาไทยยังมีน้อยอยู่ ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ นั้นจึงมีน้อยตามไปด้วย และยังคลุมเครือเช่นเดียวกันกับตัวตนของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์เอง
แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์นับได้ว่าเป็นบิดาแห่งการฆ่าแบบลูกโซ่ หรือ ฆาตกรต่อเนื่องที่จนบัดนี้ก็ไม่มีใครชี้ชัดได้ว่า เขาคือใคร ?
นักเขียนทั่วโลกต่างพากันขุดคุ้ยเรื่องราวของเขาผู้นี้มาเขียนถึงในแง่มุมต่างๆ รวบรวมจากหลักฐานที่หาได้ในอดีตและพบในปัจจุบัน
ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องราวของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ดังนั้นจึงได้อาสาทำการแปลงตัวเป็นนักสืบ วิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียดสำคัญของรูปคดีทั้งหมดมาไว้เป็นเอกภาพในหนังสือขนาดกะทัดรัดเล่มนี้ คือไม่หนาและบางจนเกินไปนัก เพราะปรารถนาจะให้คุณอ่านได้แบบ วางไม่ลง และจบในคราวเดียว รวมทั้งได้ซื้อหาได้สำหรับใช้อ้างอิงค้นคว้าเมื่อถึงคราวจำเป็น เพราะผมวิเคราะห์ จากบรรณานุกรมหลายแหล่งที่มีรายละเอียดของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์โดยเฉพาะ
เรื่องราวของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรจากนรกผู้นี้ โลดโผนยิ่งกว่าพระเอกนิยายฆาตกรรม -- สยองขวัญเรื่องใดๆ นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยแง่มุมของปริศนา และความลึกลับ พิศวงอีก 108-1009 กรณี
เพียงแต่ ก่อนจะอ่าน คุณต้องทำใจเชื่อว่า แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรจากนรกผู้นี้ มีตัวตนอยู่จริง
ด้วยความปรารถนาดี
วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ นักสืบ
ผู้อาสาวิเคราะห์และดูแลคดี
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
ย้อนกลับไปช่วงปี ค. ศ. 1888 ยุคมืดของโลก บรรยากาศอึมครึม แสงตะเกียงสลัวๆ ร้านขายเหล้า โสเภณี และฆาตกรจากนรก ปีศาจปริศนาแห่งกรุงลอนดอน
ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปี ค . ศ . 1888 ชาวเมืองย่านไวท์ชาเพลแห่งมหานครลอนดอนได้รับรู้ถึงคดีฆาตกรรมสยองขวัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถคลี่คลายปมของคดีนี้ได้ ว่าใครคือฆาตกร ?
ฆาตกรที่ไม่มีใครรู้ชัดว่าเป็นใครมีฉายาเดิมว่า ลีเธอร์ เอพรอน ฆาตกรผ้ากันเปื้อนหนัง และต่อมาก็เป็นที่รู้จักกันในนาม แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรจากนรก เขามักออกล่าเหยื่อบนถนนที่มืดสลัว ย่านตะวันออกของมหานครลอนดอน นี่คือจุดเริ่มต้นของ Serial Killer Murder --ฆาตกรเลือดเย็นที่สุด แสนจะเหี้ยมโหดและคลาสสิคในยุควิคตอเรีย
ซึ่ง..ณที่นั้น..บันทึกแห่งความตายก็ได้เริ่มขึ้น คุณกล้าและพร้อมที่จะค้นหาความจริงหรือยัง ตามผมมาซิครับ
หนังสือพิมพ์สตาร์ฉบับเช้าได้พาดหัวข่าวว่า ไม่เคยมีฆาตกรรมครั้งใดจะโหดเหี้ยมเท่าครั้งนี้ แมรี่ แอน นิโคลส์ถูกฆตกรรมที่บรัคส์ โรว ก่อนตายเธอเดินเมาออกจากผับ ไฟร์ริ่ง แพน ในย่านบร็อค เพื่อหา ลูกค้า และก็มีผู้พบศพเธอนอนอยู่บนถนนก้อนกรวด เหยื่อรายแรกของอสูรกายที่กลายเป็นฆาตกรมืดที่โด่งดังของอังกฤษ
เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ร่างไร้วิญญาณของแอนนี่ แชพแมนถูกพบที่สนามหญ้าด้านหลังของตึกหมายเลข 29 ซึ่งตั้งอยู่บนถนนแฮนด์เบอรี่ ศพของเธออยู่ในสภาพถูกชำแหละ และมีอวัยวะบางชิ้นหายไป พร้อมกับการกลับมาของอสูรกายลึกลับอีกครั้ง ตำรวจได้ตั้งคำถามชวนพิศวง หรือจะเป็นคนแปลกหน้าชาวต่างชาติ รูปร่างสูง ที่เธอพบก่อนจะเสียชีวิตในเช้าวันนั้น ?!!
วันที่เกิดคดีฆาตกรรมสองรายซ้อนในลอนดอน เวลาตีหนึ่ง บนถนนเบอร์เนอร์ มีผู้พบร่างไร้วิญญาณของอลิซาเบท สไตรด์ สภาพศพมีรอยปาดลึกที่บริเวณลำคอด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ฝีมือของฆาตกรจากนรก ? และนี่เป็นอีกครั้งที่ไร้ร่องรอยของฆาตกร
ต่อมา
ฆาตกรสำแดงฝีมืออีกครั้ง กับเหยื่อในย่านจตุรัสมิทร์ ซึ่งใช้เวลาเดินจากถนนเบอร์เนอร์ เพียง 10 นาทีเท่านั้น ฆาตกรชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี โดยอาศัยถนนเล็กๆ ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอับชื้น เวลา 01.45 น. ศพของแคเธอรีน เอ็ดโดวส์ เป็นอีกรายที่ถูกทิ้งไว้บนถนนเปลี่ยวสายนั้น เป็นการฆาตกรรมที่ทารุญมากโดยฆาตกรฝีมือฉมัง
คนยิวคือพวกที่จะไม่ได้รับการตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น เป็นข้อความที่ถูกเขียนด้วยชอล์กและปรากฎอยู่บนกำแพงบนถนนกูลส์ตัน ซึ่งอยู่ถัดจากสถานที่ที่พบศพของแคเธอรีน บางทีอาจจะเป็นการยอมรับที่มีจุดประสงค์มุ่งร้าย ? การกล่าวหาที่เป็นเท็จ ? ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่พนักงานสอบสวนเฟรเดรริค เอเบอรีนต้องนำกลับไปไตร่ตรอง
เดือนตุลาคมผ่านไปโดยไม่มีวี่แววของนักฆ่าจากนรกผู้โด่งดัง ฆาตกรได้วางมือแล้วหรือ ?
ฆาตกรจากนรก แจ๊ค เดอะริปเปอร์ลงมืออย่างเหี้ยมโหดกับเหยื่อรายที่ห้า รายสุดท้าย แมรี่ แจน เคลลี่ โสเภณีสาวสวยวัย 25 ปี ศพของเธอถูกพบที่เลขที่ 13 มิลเลอร์ คอร์ท
จากนั้น ความชั่วร้ายก็ค่อยๆ กลืนหายไปพร้อมกับเงาลึกลับ ขณะที่ความโหดร้ายของฆาตกรได้ฝังรากอยู่ในหัวใจของชาวเมืองไวท์ชาเพล--ไม่เสื่อมคลาย
ตำรวจสืบสวนยังคงมืดแปดด้านกับการหาตัวผู้ต้องสงสัย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือด ใครคือนักฆ่าจากนรก-แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ?- - เขาผู้นั้นคือใครกันแน่ !!?
ภาพความทรงจำ ความสยดสยองของฆาตกร โหด สยองขวัญ หนึ่งเดียวผู้นี้ยังคงปรากฏใน ชุมชนทางตะวันออกของมหานครลอนดอน
พวกแกจะจับฉันได้อย่างไรตอนนั้น ? ฉันรักในผลงานของฉัน และก็จะเริ่มปฏิบัติการอีกครั้ง ... ในไม่ช้า โชคดี ขอแสดงความนับถือ ฆาตกรจากนรก
นี่คือข้อความที่ฆาตกรจากนรกหัวเราะเยาะตำรวจผ่านทางจดหมาย
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
ฆาตกรจากนรกผู้ก่อคดีโหด สะเทือนขวัญกับเหยื่อสาวห้าราย แล้วก็หายไปจากโลกนี้อย่างไร้ร่องรอย จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถไขปริศนานี้ได้สำเร็จ ท่านพร้อมที่จะเดินทางไปสัมผัสโลกของฆาตกรโหดผู้นี้กับคดีสยองขวัญหรือยังครับ ตามผมมาซิครับ
หลายคนจะรู้จักเธอในนาม พอลลี เธอมีอายุ 42 ปี ตอนถูกฆาตกรจากนรก แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรรม
พอลีแต่งงานกับเจ้าของโรงพิมพ์ชื่อวิลเลียม ทั้งคู่มีลูกห้าคน
ในปี 1877 สามีของเธอได้หนีไปอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งของพอลลี และจุดนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเธอต้องอยู่ในวังวนของสุรา และโสเภณี ก่อนที่เธอจะพบจุดจบ เธออาศัยอยู่ที่ ไวท์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นแหล่งเสื่อมโทรมบนถนนฟลาวเวอร์ และถนน ดีน ศพของเธอถูกฝังที่สุสานอิลฟอร์ด ในวันที่ 6 กันยายน 1888
แอนนี่สาวผิวคล้ำ ... พบกับจุดจบในคืนที่หมอกลง ... ถ้าเธอไม่ถูกมาตรกรรมด้วยมีดของแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์เสียก่อน เธอก็คงตายด้วยโรคทางสมองและปอด
หลังจากการเสียชีวิตของสามี ในปี 1886 แอนนี่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในย่านชุมชนตะวันออกของลอนดอนอย่างไร้จุดหมาย และขัดสนเงินทอง เธอหาเลี้ยงชีพด้วยการขายไม้ขีดและดอกไม้ มิหนำซ้ำ โชคชะตาช่างโหดร้ายกับชีวิตของเธอนัก เธอมีลูกสาวสองคน คนแรกตายในปี 1882 ส่วนคนที่สองก็ขาพิการ หลังจากเธอตายแล้ว คนในครอบครัวได้ทำการฝังศพเธออย่างลับๆ ที่สวนสาธารณะเมเนอร์ ในวันที่ 14 กันยายน 1888
อลิซาเบท กูสตาฟส์ดอทเตอร์ เป็นชื่อเต็มของเธอ เธอเกิดที่โกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ในเดือนพฤศจิกายน 1843
หลังจากที่เธอกลายเป็นโสเภณีจดทะเบียนและคลอดลูกสาวที่ได้เสียชีวิตตอนเกิดแล้ว เธอได้ย้ายไปอยู่ลอนดอน ในปี 1866 และแต่งงานกับช่างไม้ที่ชื่อ จอห์น โทมัส สไตส์ ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่ถนนโกเลอร์ ในกรุงลอนดอน และได้ร่วมกันเปิดร้านกาแฟก่อนที่จะแยกทางกันในปี 1882
ก่อนที่ลิซจะพบจุดจบด้วยวัย 44 ปี โดยน้ำมือของฆาตกรจากนรก เธอได้กระทำความผิดจาการเมาสุราถึงแปดครั้ง
ร่างของเธอถูกฝังที่สุสานย่านลอนดอนตะวันออก
แคเธอรีนเป็นบุตรสาวของช่างทำจานดีบุก เธอเกิดในปี 1842 ที่ วูลเวอร์แฮมตัน เมื่อตอนที่เธออายุ 2 ขวบ เธอได้เดินทางมาพักอาศัยอยู่ที่เขตปกครองของมหานครลอนดอน เธอได้อยู่กินกับข้าราชการชำนาญชื่อ โทมัส คอนเวย์ และมีลูกด้วยกันสามคน ต่อมาครอบครัวเธอก็ได้ย้ายกลับไปบ้านเกิด หลังจากนั้น ทั้งคู่แยกทางกันในปี 1880 และแคทก็ได้กลับมาที่ลอนดอนอีกครั้ง เธอพำนักอยู่ที่ถนนฟลาวเวอร์ก่อนจะย้ายมาที่ถนนดีน เธอถูกฆาตกรรมด้วยวัย 44 ปี ศพของเธอถูกฝังที่ อิลฟอร์ด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1888
แมร์รี่ สาวผิวดำ ไม่เหมือนกับเหยื่อคนอื่นๆ ตรงที่เธอมีอายุน้อยกว่าเหยื่อรายอื่นๆ ด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น เธอเป็นโสเภณีที่ยังสาวและพราวเสน่ห์ ซึ่งเธอน่าจะมีโอกาสสนองบริการแก่ลูกค้าในชุมชนย่านตะวันตกมากกว่าที่จะมาขายบริการบนถนนที่แสนจะลึกลับและน่ากลัวในชุมชนย่านตะวันออก
เธอเกิดที่ไดเนอร์ริค ในไอร์แลนด์ และย้ายมาที่เวลส์ และที่นี่เองเธอได้แต่งงานกับคนงานเหมืองถ่านหิน ผู้ต้องจบชีวิตในเหมืองเก่าๆ แห่งนั้น
เธอเริ่มต้นชีวิตโสเภณีในเมืองคาร์ดิฟฟ์นับจากสามีตาย ซึ่งต่อมา เธอก็ได้ย้ายถิ่นหากินมาที่ลอนดอนและทำงานในซ่องโสเภณีย่านชุมชนตะวันออก
เธอถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่มิลเลอร์ คอร์ท ศพของเธอถูกฝังที่สุสานวอลแชมสไตร์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1888
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
ก่อนเวลา 04.00 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 1888 ขณะที่ชาร์ลส์ ครอสส์กำลังเดินมุ่งหน้าสู่ถนน บรัคส์ โรวในไวท์ชาเพล บรรยากาศโดยรอบทั้งมืด วังเวง และหดหู่ ซึ่งเป็นสภาพที่ผิดปกติจากที่เคยเป็น โดยเฉพาะเวลาใกล้ฟ้าสางในช่วงฤดูร้อนเช่นนี้ ทันใดนั้นชายหนุ่มก็เห็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งผิดปกติซึ่งปรากฏอยู่บนพื้นหน้าทางเข้าคอกสัตว์
เมื่อเขาเดินเข้าใกล้ก็รู้ว่าสิ่งที่ผิดปกตินั้นเป็นร่างของผู้หญิงนอนหงายอยู่ กระโปรงของเธอถูกถลกขึ้นมาถึงเอว ขณะนั้นมีผู้ชายอีกคนเดินผ่านมา เขาจึงร้องบอกชายคนนั้น มาดูนี่ซิ ด้วยชายหนุ่มคิดในใจว่าผู้หญิงคนนี้ถ้าไม่เมาก็เป็นเหยื่อของการถูกข่มขืน ขณะที่ชายทั้งสองพยายามที่จะช่วยเธอ เขาไม่เห็นบาดแผลฉกรรจ์ที่เกือบจะทำให้ศีรษะหลุดจากร่างของเธอเลย เขาได้แต่ดึงกระโปรงของเธอให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และก็ตามตำรวจมาช่วย
หลังจากนั้น 2-3 นาที นายตำรวจจอห์น นีลก็มาถึงที่เกิดเหตุ เขาส่องโคมไฟไปที่ร่างของหญิงสาว ทันใดนั้น เขาก็เห็นว่ามีเลือดซึมออกจากลำคอส่วนหน้า ซึ่งเป็นรอยบาดแผลที่ถูกเชือดจากหูด้านหนึ่งไปยังหูอีกด้าน นัยน์ตาของเธอเปิดกว้างและจ้องเขม็ง มือและข้อมือเย็นเฉียบ แต่แขนของเธอยังอุ่นๆ อยู่ นีลจึงโทรเรียกตำรวจอีกคนให้ตามหมอ และรถพยาบาลมายังจุดเกิดเหตุ
ระหว่างที่รอหมอและรถพยาบาล นีลก็ได้ปลุกผู้คนในบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อสอบปากคำว่ามีใครได้ยินสิ่งผิดปกติใดบ้าง แต่ไม่มีใครได้ยินอะไรเลย
หลังจากนั้นไม่นาน ดร.ลี ลีเวลลินก็มาถึงที่เกิดเหตุ เขาลงมือตรวจสอบร่างของเธอ บาดแผลฉกรรจ์ที่ลำคอ ทำให้เธอถึงแก่ความตาย เขากล่าว
เนื่องจากร่างกายของเธอยังอุ่นๆ หมอจึงสันนิษฐานว่า เธอเพิ่งจะเสียชีวิตได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจจะก่อนที่นีลมาพบเธอเพียง 2-3 นาทีเอง
ลำคอของเธอถูกปาดถึง 2 ครั้ง เป็นผลให้หลอดลมและหลอดอาหารขาด เธอถูกฆาตกรรมบริเวณที่ได้พบศพเธอ แม้จะพบเลือดในบริเวณที่เกิดเหตุเพียงเล็กน้อยก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากเสื้อผ้าของเธอได้ซับเลือดที่ซึมไหลจากบาดแผลนั่นเอง
ร่างไร้วิญญาณของเธอได้ถูกนำไปเก็บที่ห้องเก็บศพบนถนนโอลด์ มองตากู พนักงานสอบสวน
สแปรทลิงค์ได้ตรวจสอบร่างเปลือยเปล่าของเธอ เขาจึงพบว่ามีบาดแผลบริเวณส่วนท้องของเธอ และอวัยวะภายในบางชิ้นถูกตัดไป เขาจึงโทรเรียก ดร. ลีเวลลินกลับมาชันสูตรศพอย่างละเอียดอีกครั้ง
นายแพทย์ลีเวลลินได้ลงความเห็นว่า บริเวณขากรรไกรล่างด้านซ้ายของเธอมีรอยฟกช้ำดำเขียว บาดแผลบริเวณส่วนท้องเป็นบาดแผลที่ลึกยาวในลักษณะแนวตั้ง ซึ่งเกิดจากการถูกกรีดด้วยมีดที่คมกริบ และหมอได้สันนิษฐานว่า ฆาตกรคงจะถนัดมือซ้าย
จากบาดแผลที่พบในเหยื่อคนนี้ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย ซึ่งฟิลิป ซุคเด็น นักเขียนที่มีผลงานเกี่ยวกับ แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ถ้าลำคอของเหยื่อถูกเชือดในขณะที่เหยื่อยังมีลมหายใจ และเหยื่อยู่ในท่ายืนตรงแล้ว น่าจะมีเลือดพุ่งไหลออกมาจากบาดแผล และไหลซึมเสื้อผ้าด้านหน้า แต่ในความเป็นจริงไม่ปรากฏรอยเลือดบริเวณหน้าอก และส่วนของเสื้อผ้าบริเวณบาดแผลเลย มีแค่กองเลือดเล็กๆบนพื้น ซึ่งเป็นเลือดที่ไหลจากคอของเหยื่อ และเลือดบางส่วนก็ไหลซึมเสื้อผ้าแผ่นหลังของเธอ จากลักษณะดังกล่าว เหยื่อน่าจะเสียชีวิตก่อนที่จะถูกเชือดคอ และถูกตัดอวัยวะภายใน
ในตัวเหยื่อพบเพียงหวี กระจกที่แตก และผ้าเช็ดหน้า เธอสวมหมวกฟางที่ขอบขลิบด้วยกำมะหยี่สีดำ นอกจากนั้นไม่พบหลักฐานที่จะบ่งชี้ได้เลยว่าเธอเป็นใคร
เธอสูงประมาณ 5 ฟุต 2 นิ้ว ผมสีน้ำตาลแซมดอกเลา ตาสีน้ำตาล ฟันหน้าของเธอหายไปหลายซี่
หลังจากที่ข่าวการฆาตกรรมได้แพร่สะพัดไปในไวท์ชาเพล ตำรวจก็สืบทราบว่า เธอชื่อ พอลลี หรือชื่อเต็มว่า แมรี่ แอน นิโคลส์ อายุ 42 ปี พักอยู่บ้านเลขที่ 18 ถนนทรอว์ ในวันรุ่งขึ้นพ่อและสามีของเธอได้มาขอดูศพ
พอลลีเป็นลูกสาวของช่างทำกุญแจ เธอแต่งงานกับ วิลเลียม นิโคลส์ มีลูกทั้งสิ้นห้าคน เธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นโสเภณี ชีวิตแต่งงานของเธอต้องล้มเหลว เนื่องจากเธอติดสุรา และดื่มจัด ซึ่งในบางครั้งเธอก็พยายามที่จะทำให้ครอบครัวกลับสู่สภาพปกติ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
เฟรเดรริค จอร์จ เอเบอรีน ผู้เป็นเจ้าของคดีนี้เป็นนายตำรวจผู้มากด้วยประสบการณ์ถึง 25 ปี และปฏิบัติหน้าที่ในแถบไวท์ชาเพลมาเป็นเวลานาน
ฆาตกรไม่ได้ทิ้งร่องรอยใดไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือหลักฐาน ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นก็ไม่มีใครได้ยินเสียง หรือเห็นสิ่งใดผิดปกติเลย ทั้งๆที่มีผู้พบพอลลี หลังจากเธอสิ้นใจได้ไม่นาน แต่ก็ไม่มีร่องรอยของยานพาหนะหรือบุคคลใดในบริเวณที่เกิดเหตุเลย
ในตอนแรกนักฆ่าม้าสามคน ที่ทำงานในบริเวณใกล้เคียงตกเป็นผู้สงสัย แต่จากการสอบสวนแล้วก็พบว่าทั้งสามคน กำลังทำงานขณะที่เกิดการฆาตกรรม
ในช่วงเวลาที่การฆาตกรรมพอลลี นิโคลส์ เกิดขึ้น ชาวไวท์ชาเพลก็ได้ยินเรื่องราวการฆาตกรรมหญิงสาวหลายรายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในละแวกใกล้เคียง ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าหญิงสาวเหล่านั้นถูกฆ่าด้วยฝีมือของผู้ชาย ซึ่งต่อมาทุกคนก็ขนานนามให้เขาว่าฆาตกรจากนรก-แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ รูปการณ์ของคดีทั้งหมดเริ่มถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
หลายสัปดาห์ก่อนการเกิดคดีฆาตกรรมพอลลี นิโคลส์ มีผู้พบศพมาร์ธา ทาบราม โสเภณี วัย 39 ปี ถูกฆาตกรรมที่จอร์จ ยาร์ด ในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 1888
จากรายงานการชันสูตรศพของดร. ทิโมที คิลลีนสรุปว่า มาร์ธาเสียชีวิตในเวลาประมาณ 02.30 น. ตามร่างกาย คอ และอวัยวะเพศมีบาดแผลถูกแทงด้วยมีดสั้นจำนวน 39 แผล แต่ไม่มีร่องรอยการถูกปาดที่ลำคอ และอวัยวะภายในบริเวณช่องท้องยังอยู่ครบ
แมร์รี่ แอน คอนเนลลี หรือรู้จักในนาม แพรี่ พอล์ล เป็นโสเภณีที่อยู่กับมาร์ธา ก่อนที่มาร์ธาจะถูกฆาตกรรม ซึ่งก่อนเกิดเหตุ ทั้งคู่ได้ขายบริการให้กับทหารหนุ่มสองราย ตำรวจได้นำตัวพอล์ลไปชี้ตัวทหารหนุ่มทั้งสองที่อาคารกองทหารรักษาการในเมือง แต่ตำรวจก็ไม่พบหลักฐานที่จะชี้ชัดได้ว่าทหารหนุ่มทั้งสองรายเป็นฆาตกรที่ลงมือฆ่ามาร์ธา
ก่อนหน้านี้ เวลา 19.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน 1888 เอมมา สมิธโสเภณีวัย 45 ปี ได้ถูกทำร้ายในรัศมี 100 หลาในบริเวณที่มาร์ธาเสียชีวิต เธอได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะและใบหน้า อวัยวะเพศถูกกระทุ้งด้วยของแข็งที่ไม่มีความแหลมคม เธอเล่าเหตุการณ์ให้ผู้หญิงที่เช่าบ้านอยู่ที่เดียวกับเธอฟังว่า เธอถูกผู้ชายหลายคนรุมข่มขืน และชิงทรัพย์เธอ
ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณที่ใกล้กับไวท์ชาเพล แต่ลักษณะของสองคดีนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในคดีของมาร์ธา เธออาจจะถูกฆาตกรรมโดยฆาตกรคนเดียว โดยมีเรื่องการชิงทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่เอมมานั้นถูกชายหลายคนข่มขืน และทำร้ายร่างกาย ลักษณะของบาดแผลก็ค่อนข้างแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ฆาตกรจะเป็นคนละคนกัน ซึ่งในกรณีของมาร์ธาเท่านั้นที่มีลักษณะการฆาตกรรมที่คล้ายคลึงกับผลงานของฆาตกรที่เรารู้จักในนาม แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์-ฆาตกรจากนรก
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
เนื่องจากประชาชนในไวท์ชาเพล ปักใจเชื่อว่าการตายของ มาร์ธา ทาบราม, เอมมา สมิธ และ พอลลี นิโคลส์ มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างแรงกดดันแก่ตำรวจเป็นอย่างมาก ในการที่จะนำตัวฆาตกรมาลงโทษ
มีการตั้งสมมุตฐานเกี่ยวกับตัวฆาตกรไว้ 3 ประการ คือ
ข้อน่าสังเกตคือทุกกรณีจะมีเม็ดองุ่น และกิ่งองุ่น ถูกทิ้งอยู่ข้างๆศพ
เมื่อพิจารณาจากสภาพศพและบาดแผลของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายแล้ว ทำให้สมมุติฐานสองข้อแรกไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ดังนั้นสมมุติฐานข้อสุดท้ายจึงเป็นที่ยอมรับ
ได้มีการร้องขอไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ตั้งรางวัลนำจับฆาตกร แต่เฮนรี แมททิวส์ รัฐมนตรีว่าการในขณะนั้นได้ปฏิเสธการร้องขอ และให้ทางตำรวจนครบาลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบคดีฆาตกรรมสยองขวัญนี้
ตำรวจนครบาลแห่งมหานครลอนดอนในยุควิคตอเรียนั้นปฏิบัติงานโดยไม่มีวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ หรือเครื่องมือสมัยใหม่ที่จะช่วยในการค้นหาฆาตกร ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือ การตรวจเพื่อหากลุ่มเลือด การถ่ายภาพเหยื่อ หรือการเปรียบเทียบแถบดีเอนเอ ฯลฯ ไม่มีแม้กระทั่งห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์หลักฐานคดีอาชญากรรม ตำรวจสก๊อตแลนด์ ยาร์ดของอังกฤษ มีห้องปฏิบัติการดังกล่าวใช้ในการปฏิบัติงานเมื่อช่วงปี 1930 นี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในคดีฆาตกรรมเช่นนี้มาก่อนเลย ซึ่งถ้าเป็นปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ และ Forensic Science (นิติเวชวิทยา) รับรองว่าฆาตกรจากนรกผู้นี้จะถูกกระชากหน้ากากในเวลาไม่เกินหนึ่งอาทิตย์
ขณะที่ตำรวจกำลังหาฆาตกรที่ฆ่า พอลลี นิโคลส์ นั้นเองก็มีเรื่องราวของชายลึกลับ ลีเเธอร์ เอพรอน-ชายผ้ากันเปื้อนหนัง ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ชายผู้นี้จะขูดรีดเงินจากโสเภณี และถ้าพวกหล่อนปฏิเสธที่จะจ่ายเงินให้ เขาก็จะทำร้ายพวกเธอ หนังสือพิมพ์ เดอะ สตาร์ ได้กล่าวอ้างว่าชายผู้นี้เป็นช่างทำรองเท้าแตะชาวยิว ซึ่งมีลักษณะดังนี้
ชายผู้นี้ อายุราว 38-40 ปี สูงประมาณ 5 ฟุต 4- 5 นิ้ว ไว้หนวด ร่างกายกำยำ มีลำคอที่ใหญ่กว่าคนปกติ ผมดำสั้นเกรียน และใส่หมวกแก๊ปสีดำพอดีศีรษะ สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของชายคนนี้คือเขาจะสวมผ้ากันเปื้อนหนังอยู่ตลอดเวลา ลักษณะท่าทางเต็มไปด้วยความโหดร้ายที่เปล่งประกายออกทางดวงตาคู่เล็ก พร้อมกับการยิ้มที่มิเพียงแต่สร้างควาสะพรึงกลัวแต่ยังก่อให้เกิดความน่ารังเกียจอีกด้วย
เมื่อข้อความดังกล่าวออกสู่สาธารณชน ชายผ้ากันเปื้อนหนัง ก็หายวับไปเพื่อหลบซ่อนตัวทันที เนื่องเพราะเขาเกิดความกลัวว่าจะโดนรุมประชาทัณฑ์
เธอถูกฆาตกรรมด้วยวัย 47 ปี
ย้อนกลับไปดูชีวิตเธอก่อนที่จะมาเป็นโสเภณีไร้บ้าน เธอแต่งงานกับจอห์น แชพแมน คนขับรถม้า ทั้งคู่มีลูกสามคน คนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเยื่อบุสมองอักเสบ ส่วนอีกคนพิการทุพพลภาพ
จากความเครียดที่ลูกพิการ และทั้งคู่เป็นนักดื่มตัวยง จึงทำให้ชีวิตครอบครัวแตกสลาย และสถานการณ์ทวีความเลวร้ายขึ้นอีก เมื่อจอห์นถึงแก่กรรม ทำให้แอนนี่ซึ่งป่วยเป็นโรคติดเหล้า ไม่มีรายได้ที่จะประทังตัวเองและลูก
แอนนี่หาเลี้ยงชีพด้วยการถักโครเชต์ และขายดอกไม้ แต่ในที่สุดเธอก็หันไปยึดอาชีพโสเภณี ทั้งๆที่หน้าตาเธอก็ไม่ได้สะสวย รูปร่างก็ค่อนข้างท้วม แถมฟันหน้าก็หลออีกด้วย แต่ด้วยความที่เธอเป็นคนเข้ากับคนง่าย จึงทำให้เธอสามารถประกอบอาชีพนี้ได้
หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่เธอจะถูกฆาตกรรม เธอได้มีเรื่องตบตีแย่งสบู่หนึ่งก้อนกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอถูกต่อยที่ตาซ้ายและหน้าอก
วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 1888 แอนนี่ได้บอกกับอมีเลียซึ่งเป็นเพื่อนเธอว่าเธอรู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่เธอไม่รู้ตัวเลยว่าเธอเองกำลังป่วยเป็นวัณโรค
ฉันจะต้องฝืนสังขารออกไปหาเงิน ไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่มีที่ซุกหัวนอน
ก่อนเวลา 02.00 น . ของเช้าวันเสาร์ที่ 8 กันยายน แอนนี่ในสภาพเมาเล็กน้อย ก็เดินออกจากห้องเช่าเพื่อไปหาเงินค่าเช่าห้อง และในเวลาต่อมาศพของเธอก็ถูกพบในบริเวณสนามด้านหลังของถนน 29 แฮนด์เบอรี ในสพิตาฟิลส์
เพียงแค่ข้ามถนนสายนี้ ฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นที่ตั้งของตลาดสพิตาฟิลส์ ซึ่งจะเปิดให้บริการเวลา 05.00 น. นั่นหมายความว่า พ่อค้าแม่ค้า ก็จะต้องมาเตรียมตัวกันเพื่อขายสินค้าในตอนเช้า ผู้คนในละแวกนั้นก็จะออกไปทำงานกันตั้งแต่เวลา 03.50 น. ถนนสายต่างๆ ในบริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยยานพาหนะ ที่บรรทุกสินค้า และผู้คนที่เดินทางมุ่งหน้าไปยังตลาด
หลัง 06.00 น. เล็กน้อย ชายสูงอายุนามจอห์น เดวิส ซึ่งมีอาชีพเป็นคนขับรถ ที่พักอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสามคน บนถนน 29 แฮนด์เบอรี เป็นผู้พบร่างของแอนนี่ ซึ่งอยู่ในสภาพกระโปรงถูกถลกขึ้นไปจนถึงเชิงกราน ทันใดนั้นเขาก็วิ่งไปตามคนอื่นมาช่วย ในขณะที่เขาและกรรมกรสองคน กำลังช่วยเหลือ แอนนี่ ตำรวจก็ได้รับแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทุกคนในบ้านก็ตื่นขึ้นจากการหลับใหล
น่าประหลาดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก เนื่องจากพระอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.23 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ยวดยานพาหนะวิ่งกันขวักไขว่ แต่กลับไม่มีใครได้ยินเสียงร้อง หรือเห็นใครที่มีท่าทีพิรุธ ถืออาวุธ หรือสวมเสื้อผ้าที่เปื้อนเลือดเลย หลังเกิดเหตุไม่ปรากฏคราบเลือดที่ก๊อกน้ำในสนามด้านหลังถนน--- บริเวณที่พบศพของแอนนี่แม้แต่น้อย นั่นย่อมแสดงว่าฆาตกรไม่ได้ใช้น้ำล้างเลือดที่อาจจะเปื้อนมือหรือมีดเลย
ดร. จอร์จ แบคสเตอร์ ฟิลิปส์ นายตำรวจศัลยแพทย์ได้ถูกตามตัวมายังสถานที่เกิดเหตุ เพื่อชันสูตรศพ
ผมพบร่างผู้ตายนอนหงายอยู่ที่สนามด้านหลัง แขนข้างซ้ายวางพาดผ่านหน้าอกด้านซ้าย ขาทั้งสองข้างตั้งชัน โดยที่เท้าทั้งคู่แตะพื้น ศีรษะตะแคงไปทางด้านขวา ใบหน้าบวม ลิ้นจุกปาก ลำไส้เล็กและอวัยวะภายในบางส่วน ซึ่งไม่ได้ถูกตัดให้ขาดถูกดึงออกมากองอยู่เหนือหัวไหล่ด้านซ้าย ซึ่งในบริเวณนั้นเจิ่งนองไปด้วยเลือด ร่างของผู้ตายเย็นแต่ก็มีบางส่วนที่ยังอุ่นอยู่ ไม่มีร่องรอยบาดแผลบริเวณแขน ขา บริเวณลำคอมีรอยถูกเชือดเป็นแผลลึกและยาวจากลำคอด้านซ้ายถึงลำคอด้านขวา
ดร. ฟิลิปส์ คาดคะเนว่าแอนนี่ แชพแมนคงถูกฆาตกรรมมาประมาณ 2 ชั่วโมงแล้ว และได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณถนน 29 แฮนด์เบอรี ไม่ได้ยินเสียงร้องใดๆ เลย นั่นเป็นเพราะแอนนี่ถูกบีบคอให้หมดสติก่อนที่ฆาตกรจะลงมือปาดคอเธอ
เธอถูกฆาตกรรมในบริเวณเดียวกับที่พบศพเธอ ถึงแม้จะไม่มีร่องรอยการต่อสู้ป้องกันตัว แต่บริเวณใกล้ๆ เท้าของเธอมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แอนนี่ได้เก็บเศษผ้าชิ้นเล็กๆ หวี และแปรงหวีผมใส่ในกระเป๋า ซึ่งดร.ฟิลิปส์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่แปลก ที่ดูเหมือนจะถูกจัดฉากขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
นอกจากนี้ยังพบซองจดหมายซึ่งภายในบรรจุยาสองเม็ดวางอยู่ใกล้ศีรษะของเธอ ด้านหน้าซองมีตัวอักษร เอ็ม และ เอสพี ที่เขียนด้วยลายมือปรากฎอยู่ ส่วนด้านหลังมีคำว่า Sussex Regiments นอกจากนี้ยังมีตราประทับของกรมไปรษณีย์ ลอนดอน 23 สิงหาคม 1888 ด้วย และในบริเวณสนามที่เกิดเหตุก็พบ ผ้ากันเปื้อนหนัง อยู่รวมกับเศษขยะอื่นๆ
หลักฐานที่ดร.ฟิลิปส์ได้จากการชันสูตรศพและตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้เห็นภาพความโหดร้ายของฆาตกร ฆาตกรบีบคางของแอนนี่ พร้อมกับลงมือปาดคอเธอจากซ้ายไปขวา ซึ่งรอยแผลนั้นลึกจนเกือบจะทำให้คอหลุดจากบ่าได้ และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้แอนนี่สิ้นลมหายใจ ในส่วนของการตัดอวัยวะภายในช่องท้องนั้น ได้มีบทบรรยายในหนังสือพิมพ์ แลนเส็ต ฉบับวันที่ 29 กันยายน ดังนี้
ช่องท้องได้ถูกเปิดกว้าง อวัยวะภายในถูกนำมากองอยู่บริเวณไหล่ของศพ จากลักษณะของบาดแผล ผู้ลงมือจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ทางกายวิภาคเป็นอย่างดี เพราะบริเวณมดลูก ปากช่องคลอด และกระดูกเชิงกรานไม่ได้รับการกระทบกระเทือนเลย และมีดที่ใช้ลงมือก็ต้องเป็นใบมีดที่คมกริบ
ดร.ฟิลิปส์ นายตำรวจศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์โชกโชนถึง 23 ปี แปลกใจมากกับวิธีการตัดอวัยวะในช่องท้องเหยื่อ ฆาตกรทำการผ่าตัดเยี่ยงผู้ชำนาญการและลงมือปฎิบัติการในเวลาเพียงช่วงสั้น ๆ ซึ่งฆาตกรไม่น่าจะปฎิบัติการเสร็จได้โดยใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาที ซึ่งในกรณีเช่นนี้น่าจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง
ไวน์ อี. แบกซ์เตอร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสืบสวน ก็เห็นด้วยกับผลการสรุปของดร.ฟิลิปส์
ผู้ลงมือต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทางกายวิภาคเป็นอย่างดี หรือไม่ก็ต้องมีความคุ้นเคยกับการผ่าศพมนุษย์ รู้วิธีการผ่าตัดเพื่อให้ได้อวัยวะในส่วนที่ต้องการ โดยที่ไม่ทำให้อวัยวะส่วนอื่นเกิดอาการบอบช้ำและรู้ว่าจะใช้มีดอย่างไรในการลงมือ แต่ไม่สามารถระบุวัตถุประสงค์ในการลงมือปฏิบัติได้ ซึ่งก็เหมือนกับคดีฆาตกรรมที่เกิดกับมาร์ธา ทาบราม โสเภณีที่โดนฆาตกรรมในลักษณะคล้ายกัน
ดร.ฟิลิปส์คาดคะเนว่า มีดที่ฆาตกรใช้นั้น เป็นมีดที่มีใบมีดแคบ บาง ยาว ประมาณ 6- 8 นิ้ว และต้องเป็นมีดที่ศัลยแพทย์ใช้ในการผ่าตัด
รอยถลอกบนนิ้วมือของแอนนี่แสดงให้เห็นว่า มีการใช้กำลังในการถอดแหวนออกจากนิ้วมือเธอ หลังจากตำรวจได้สอบปากคำเพื่อนของแอนนี่ ก็ได้ความว่าแอนนี่สวมแหวนทองเหลืองราคาถูกๆ ซึ่งผู้ขโมยแหวนไปคงเข้าใจผิดว่าเป็นแหวนทองคำแท้
เอเบอรีน พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีฆาตกรรมพอลลี นิโคลส์ ได้รับคำสั่งให้มาช่วยสืบสวนคดีของแชพแมนในสพิตาฟิลส์ด้วย โดยมีโจเซฟ ชานด์เลอร์แห่งหน่วย เอช ในสังกัดนครบาล เป็นหัวหน้าทีมสืบสวน ซึ่งฝ่ายสืบสวนก็มีความเห็นตรงกันว่า ฆาตกรที่ฆ่าพอลลี นิโคลส์ และแอนนี่ แชพแมนเป็นคนๆ เดียวกัน
การสืบสวนคดีของแอนนี่ ก็ยังมีความคลุมเครือเช่นเดียวกับคดีของนิโคลส์ วัตถุพยานที่พบ เช่น ผ้ากันเปื้อนหนัง กล่องใส่ตะปูและเศษเหล็ก เป็นของนางริชาร์ดสัน และลูกชายของเธอ ซึ่งคนทั้งสองอาศัยอยู่ในบริเวณที่พบศพแอนนี่ ส่วนซองจดหมายที่มี คำว่า Sussex Regiment ตรงที่ปิดผนึกด้านหลังของซองนั้น ก็เป็นรูปแบบซองจดหมายที่มีจำหน่ายที่ที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่น จากการสอบสวนผู้ชายคนหนึ่งที่เช่าห้องพักในบ้านเช่าเดียวกับแอนนี่ เขากล่าวว่าเขาเห็นแอนนี่หยิบซองจดหมายนี้จากในครัวเพื่อมาใส่ยา เนื่องจากตลับใส่ยาของเธอแตก
จากการสอบปากคำผู้ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมแอนนี่ แชพแมน ตำรวจก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าใครคือผู้ต้องสงสัย และมีแรงจูงใจอะไรที่ทำให้ฆาตกรก่อคดีฆาตกรรมดังกล่าว รวมทั้งไม่พบบุคคลน่าสงสัยที่หลบหนีจากที่เกิดเหตุเลย
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนก็มิใช่จะคว้าน้ำเหลวไปทั้งหมด เพราะมีพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุถึงสาม คนที่ให้ปากคำที่เป็นประโยชน์ต่อทางตำรวจ คือ
ถ้ามีศพนอนอยู่ตรงบริเวณนั้น ผมต้องเห็นอย่างแน่นอน เขาให้ปากคำในขณะที่มีการสอบสวน
แบกซ์เตอร์ : คุณเห็นหน้าตาของผู้ชายคนนั้นหรือไม่ ?
มิสซิส ลอง : ฉันไม่เห็นและจำเขาไม่ได้ แต่ดูเหมือนเขาจะเป็นคนผิวคล้ำ
สวมหมวกทรงสูงสีน้ำตาล ฉันคิดว่าเขาสวมเสื้อคลุมสีดำด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่
แบกซ์เตอร์ : ชายคนนั้นอายุประมาณเท่าไหร่ ? หนุ่มหรือเด็ก ?
มิสซิส ลอง : โอ ! เขาอายุเลย 40 แล้ว และดูเหมือนจะสูงกว่าผู้ตายเล็กน้อยด้วย และฉันค่อนข้างมั่นใจว่าเขาเป็นคนต่างชาติ
แบกซ์เตอร์ : คุณคิดว่าเขาน่าจะประกอบอาชีพอะไร ? กรรมกรหรือเปล่า ?
มิสซิส ลอง : เขาดูเหมือนผู้ดีตกยาก ท่าทางดี แต่ใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ
หลังจากที่ตำรวจได้ฟังคำให้การของพยานทั้งสามคนแล้ว ตำรวจก็มีเรื่องที่ต้องขบคิด เนื่องจาก ดร.ฟิลิปส์ นายตำรวจศัลยแพทย์ที่ชันสูตรศพแอนนี่ และเป็นบุคคลที่ทางตำรวจให้ความไว้วางใจอย่างมาก เขาได้คาดคะเนว่า แอนนี่ได้ถึงแก่กรรมในเวลาไม่เกิน 0 4.30 น. ของเช้าวันเสาร์ แต่คำให้การของพยานทั้งสามชี้ให้เห็นว่าแอนนี่ถูกฆ่าตายในเวลา 0 5.30 น. ดังนั้น ชานด์เลอร์หัวหน้าทีมสืบสวนคดีแอนนี่จึงได้เพิกเฉยต่อคำให้การของพยานทั้งสาม ทั้ง ๆ ที่คำให้การของมิสซิส ลองจะมีประโยชน์ต่อรูปคดีก็ตาม
ฟิลิป ซุคเด็นได้เสนอความเห็นคัดค้านการคาดคะเนเวลาตายของแอนนี่โดยดร.ฟิลิปส์ในปี 1888 ไว้ในหนังสือเล่มที่ดีที่สุดของเขาว่า
การคาดคะเนการตายของแอนนี่โดยดร.ฟิลิปส์นั้น ไม่ได้พิจารณาอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ตาย แต่คาดคะเนเวลาตายจากการสัมผัสเพียงร่างภายนอกของผู้ตาย ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้อุณหภูมิในตัวศพลดลงและควรที่จะนำมาพิจารณา เช่น อากาศในเช้าวันที่ 8 กันยายน 1888 นั้นค่อนข้างเย็น ประกอบกับเสื้อผ้าของแอนนี่ถูกถลกขึ้นมาจนเผยให้เห็นถึงอวัยวะภายในช่วงช่องท้องที่ถูกนำมากองอยู่ข้าง ๆ ร่างของเธอ จากบาดแผลที่ถูกเปิดกว้างนี้ทำให้แอนนี่เสียเลือดเป็นจำนวนมาก ซึ่งดร.ฟิลิปส์มองข้ามประเด็นสำคัญเหล่านี้ไปตอนที่เขาทำการชันสูตรศพ ถ้าเขาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว แอนนี่น่าจะถูกฆ่าหลังเวลา 0 4.30 น. ไม่ใช่ก่อนเวลา 0 4.30 น.
หนังสือพิมพ์ประโคมข่าวการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยเสนอข่าวลือและเรื่องราวทุกอย่างราวกับจะปะทุความกลัวและความโกรธของประชาชนในชุมชนตะวันออกให้ลุกเป็นเปลวเพลิง
และก็เป็นไปตามคาด ประชาชนออกอาการโกรธ และไม่พอใจการทำงานของตำรวจที่ปกปิดข้อมูล และไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ รัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยที่ไม่มีนโยบายให้รางวัลนำจับฆาตกร ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลไม่มีนโยบายดังกล่าวก็เนื่องจากบทเรียนที่จับตัวฆาตกรผิดตัวในอดีตนั่นเอง แต่กระนั้นทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้คาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า จะมีประชาชนในไวท์ชาเพลจำนวนมากอาสาสมัครที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ หรือเป็นอันตรายต่อสังคมแก่ตำรวจ และก็เป็นดังคาดจริง ๆ
ไฟความโกรธที่คุกกรุ่นของชาวบ้าน ทำให้พวกเขามองหา แพะ และเป้าหมายของพวกเขาก็คือ ชุมชนชาวยิว เพราะผู้ชายที่ทำร้ายโสเภณีมีสมญานามว่า ผ้ากันเปื้นหนัง นั้นเป็นชาวยิว ประกอบกับคำให้การของมิสซิส ลอง ที่ว่าฆาตกรที่ฆ่าแอนนี่ แชพแมนเป็นคนต่างชาติ ซึ่งคำให้การนี้ทำให้ชาวไวท์ชาเพลตระหนักรู้ และแน่ใจว่าฆาตกร คือ พวกยิวอพยพ
จากข้อเท็จจริงสองประการดังกล่าวข้างต้นผนวกกับข่าวลือต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดบรรยากาศการต่อต้านชาวยิวอย่างเด่นชัดในสังคมไวท์ชาเพล
พ่อค้าบางคนในไวท์ชาเพลได้รวมตัวเพื่อหยุดยั้งกระแสการต่อต้านชาวยิวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาได้จัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มหนึ่งขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักธุรกิจชาวยิวเป็นส่วนใหญ่
จอร์จ ลัสค์ ผู้ซึ่งทำธุรกิจก่อสร้างและดูแลงานทั่วไปในโบสถ์ท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นประธานของคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกรรมการ 16 คน ที่เป็นชาวเมืองระดับท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง
คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่จัดระบบการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้คนที่อาศัยในแถบไวท์ชาเพลซึ่งการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดนี้ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
ซามูเอ็ล มองตากู สมาชิกรัฐสภาท้องถิ่นชาวยิว ได้เสนอให้มีการตั้งรางวัลนำจับฆาตกร ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการชุดนี้
หลังจากเหตุการณ์ร้ายผ่านล่วงเลยมา 1 สัปดาห์ สภาพชีวิตคนกลางคืนในไวท์ชาเพลก็กลับมาสู่สภาวะปกติ โสเภณีและคนในอาชีพอื่นที่ให้ความบันเทิงยามค่ำคืน ก็เริ่มกลับเข้าสู่วัฎจักรเดิม
วันอังคารที่ 4 กันยายน 3 วัน หลังจากการตายของแอนนี่ ผู้ต้องหานามจอห์น ไพเซอร์ ที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นฆาตกร ผ้ากันเปื้อนหนัง ก็ถูกจับ
ถึงแม้ครอบครัวของไพเซอร์ จะพยายามอธิบายชี้แจงว่า ไพเซอร์เป็นเหยื่อของข่าวลือต่าง ๆ นานา แต่ตำรวจก็มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า ไพเซอร์มีลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ เขาเคยก่อคดีทำร้ายร่างกายโดยการแทง และทำให้เขาต้องโทษไปเป็นกรรมกรถึง 6 เดือน ส่วนข้อกล่าวหาการทำร้ายร่างกายและกรรโชกทรัพย์โสเภณีนั้น ทางตำรวจยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
ในการสอบปากคำ แบกซ์เตอร์ได้ถามไพเซอร์ว่าทำไมเขาต้องหลบซ่อนตัวหลังจากการตายของ พอลลี นิโคลส์และแอนนี่ แชพแมนด้วย ซึ่งไพเซอร์ก็ได้ตอบว่าพี่ชายของเขาแนะนำให้เขาทำเช่นนั้น
ผมเป็นคนเข้าใจผิดไปเอง เขาเน้นคำตอบของเขา
ช่างเป็นคำแนะนำที่แย่ที่สุดที่พี่ชายคุณให้กับคุณ แบกซ์เตอร์กล่าวตอบ
ไพเซอร์สวนกลับทันที ผมจะบอกคุณว่าทำไม ?!! ผมควรจะถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ
เพียงแค่ไพเซอร์มีอุปนิสัยที่ไม่พึงประสงค์เพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ไม่สามารถจะระบุได้ว่าเขาเป็นฆาตกรแห่งไวท์ชาเพล นอกจากนี้เขายังมีพยานบุคคลที่สามารถระบุได้ว่าเขาอยู่ที่ไหนตอนพอลลีและแอนนี่ถูกฆาตกรรม
ไพเซอร์อยู่ที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ขณะที่พอลลีถูกฆาตกรรม ซึ่งเจ้าของบ้านเช่าสามารถเป็นพยานได้ และเขาก็พักอยู่กับญาติ ๆ ในช่วงเวลาที่แอนนี่ถูกฆาตกรรม ซึ่งก็มีพยานบุคคลหลายคนยืนยันได้ ประเด็นต่อมาที่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเขาเป็นฆาตกร คือ เขาไม่มีทักษะในการเชือด และตัดอวัยวะภายในช่องท้อง
ดังนั้น ไพเซอร์จึงถูกปล่อยตัวไป แต่ตำรวจก็ได้จับและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ อีกหลายราย ซึ่งเขาเหล่านั้นบางคนก็เป็นพวกที่มีลักษณะแปลกๆ คือเป็นพวกขี้เมาบ้าง คนบ้าบ้าง ซึ่งผลการสอบสวนก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพราะผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ขาดทักษะทางการแพทย์ การใช้มีดผ่าตัด ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ก็มีพยานบุคคลที่สามารถระบุได้ว่าผู้ต้องสงสัยอยู่ที่ไหนขณะเกิดการฆาตกรรม
ภาวะสติวิปลาส และความรู้ทางการแพทย์ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเฟ้นหาตัวผู้ต้องสงสัย นอกจากนี้ จากคำให้การของ มิสซิส ลองที่ว่าฆาตกรเป็นชาวต่างชาติ คุณสมบัติข้อนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเสาะหาฆาตกร
การที่ตำรวจพุ่งเป้าไปว่าฆาตกรต้องมีความรู้ทางการแพทย์ ทำให้ชนชั้นกลางและสูงของสังคม ไวท์ชาเพลตกเป็นผู้ตกสงสัย พวกศัลยแพทย์ และแพทย์ที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ และรุนแรง จึงกลายเป็นโจทย์สำหรับตำรวจที่จะต้องไขหาคำตอบ
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
หลุยส์ ดีมสชูส์ ชาวรัสเซียเชื้อสายยิว เขากับภรรยาอาศัยอยู่ที่คลับแห่งหนึ่ง ซึ่งสมาชิกของคลับนี้จะประกอบไปด้วยนักสังคมนิยมชาวยิว แห่งยุโรปตะวันออกเป็นส่วนใหญ่
งานหลักของดีมสชูส์ คือ ดูแลอาคารสถานที่และอาณาบริเวณโดยรอบของคลับ ยามว่างเขาก็จะไปขายเครื่องประดับตามตลาดนัด
เวลา 01.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 1 888 หลังจากที่ดีมสชูส์ เสร็จสิ้นภารกิจการขายเครื่องประดับ เขาก็ขี่เกวียนเทียมม้าเพื่อพุ่งหน้าไปยังลานดัทฟิล์ด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากถนนเบอร์เนอร์ในไวท์ชาเพล
ขณะที่เขากำลังจูงเกวียนเทียมม้าเข้าไปในสนามของคลับ เขาก็พบสิ่งๆ หนึ่งอยู่ที่พื้นดินใกล้ๆ กับกำแพงตึก เขาหยุดเดิน ... และเขาก็พบว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นเป็นหญิงสาวนางหนึ่ง หาใช่สิ่งของ
ดีมสชูส์ จึงรีบวิ่งเข้าไปในคลับเพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากนั้น เขาและสมาชิกหนุ่มอีกหนึ่งคน ก็วิ่งไปที่ผู้หญิงคนนั้น ... เธออยู่ในสภาพที่นอนจมกองเลือดอยู่ ชายหนุ่มทั้งสองเห็นดังนั้น จึงวิ่งไปร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจ
หลังจากนั้น 2-3 นาที นายตำรวจเฮนรี แลมป์พร้อมผู้ช่วยก็มาถึงยังสถานที่เกิดเหตุ แลมป์สัมผัสที่ใบหน้าของหญิงสาว และเขาก็รับรู้ว่าใบหน้าของเธอยังอุ่นๆ อยู่ แต่เมื่อเขาจับชีพจรของเธอ ก็พบว่าชีพจรของเธอหยุดเต้นแล้ว ทันใดนั้น ผู้ช่วยของเขาจึงรีบไปตามแพทย์ ส่วนแลมป์ก็ตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุโดยรอบ แต่เขาก็ไม่พบร่องรอยของการต่อสู้เลย เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ก็อยู่ในสภาพปกติ ซึ่งไม่เหมือนกับเหยื่อรายอื่นๆ ที่กระโปรงจะถูกถลกขึ้นมาเหนือเข่า
ดร.เฟรดเดอริก แบล็คเวลล์ได้มาถึงที่เกิดเหตุเวลา 01.16 น. ซึ่งผู้ช่วยคุณหมอได้มาถึงสถานที่ดังกล่าวก่อนหน้าคุณหมอประมาณ 2-3 นาที จากการตรวจสอบสภาพศพ ดร.แบล็คเวลล์ได้ให้ข้อมูล ดังนี้
ผู้ตายอยู่ในลักษณะลำตัวเอียงไปทางด้านซ้าย ส่วนใบหน้าหันไปทางกำแพงด้านขวา ส่วนคอหน้าอก ขา และใบหน้า ยังค่อนข้างอุ่นๆ อยู่ มีมือเท่านั้นที่เย็น มือขวาวางอยู่บนหน้าอกในลักษณะแบมือและมีคราบเลือดปรากฏอยู่ ส่วนมือซ้ายนั้นวางนอนราบไปบนพื้นดิน ซึ่งในมือกำลูกอมที่ห่ออยู่ในกระดาษทิชชู ใบหน้าของผู้ตายสงบ ปากเผยอเล็กน้อย ส่วนลำคอมีรอยถูกของมีคมเชือดเป็นทางยาวจากด้านซ้ายไปอีกด้านหนึ่ง บาดแผลมีลักษณะลึกจนกระทั่งหลอดลมถูกตัดขาด บริเวณข้างลำตัวของผู้ตายมีเม็ดองุ่นตกอยู่ 4-5 เม็ด
ดร.ฟิลิปส์ นายตำรวจศัลยแพทย์ก็ได้มาร่วมชันสูตรศพพร้อมดร.แบล็คเวลล์ ณ ที่เกิดเหตุด้วย ทั้งสองลงความเห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย ในช่วงเวลาระหว่าง 00.36 น. 00.56 น.
ตำรวจได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโดยรอบ แต่ก็ไม่พบเบาะแสหรือร่องรอยอาวุธใดๆ เลย ในช่วงเวลา 00.40 น. คือประมาณ 20 นาทีก่อนที่จะมีคนมาพบศพ ประธานของคลับแห่งนี้ได้เดินผ่านบริเวณดังกล่าว แต่เขาก็ไม่พบสิ่งผิดปกติหรือเห็นใครเดินอยู่ในบริเวณดังกล่าวเลย เหมือนกับที่ดีมสชูส์ก็ไม่พบใครเลยตอนที่เขาเดินจูงเกวียนเทียมม้าเข้ามาในสวนในเวลาประมาณ 01.00 น.
ขณะที่ตำรวจกำลังรับมือกับคดีฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในไวท์ชาเพล เรื่องผิดปกติอีกเรื่องหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นในบริเวณที่ห่างจากจตุรัสมิทร์ไปเพียง ? ไมล์เท่านั้น ซึ่งในย่านนั้นจะเป็นย่านธุรกิจที่ประกอบไปด้วยอาคารธุรกิจและร้านค้าใหญ่ๆ มากมาย ส่วนชุมชนอยู่อาศัยจะมีอยู่น้อยมากในย่านนี้ ดังนั้น หลังจากร้านรวงและธุรกิจปิดทำการในแต่ละวัน ย่านนี้จึงมืดและเงียบสงัด
เวลา 01.40 น. นายตำรวจนครบาลเอ็ดวาร์ด วัทกินส์ได้เดินตรวจตราย่านจัตุรัสมิทร์ตามปกติ ซึ่งเหตุการณ์ก็เงียบสงัดดังเช่นทุกวัน หลังจากนั้น ในเวลา 01.44 น. เขาก็กลับมาเดินดูความเรียนร้อยอีกที ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงหลังจากที่มีการพบศพผู้ดูหญิงที่ลานดัทฟิลด์แล้วประมาณ 45 นาที เหมือนปกติ ทุกอย่างก็ดูจะเงียบเชียบอย่างในป่าช้า แต่เมื่อเขาส่องโคมไฟไปยังหัวมุมด้านหนึ่งของจัตุรัส เขาก็พบกับบางสิ่งบางอย่างที่น่าสยดสยอง
หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 2-3 วัน เอ็ดวาร์ดได้เล่าในสิ่งที่เขาเห็นให้กับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติเวชฟัง ผมเห็นร่างของสุภาพสตรีนางหนึ่งนอนหงายจมกองเลือดอยู่ เท้าของเธอชี้ไปทางจัตุรัส เสื้อผ้าถูกถลกขึ้นมาเหนือเอว ลำคอมีรอยถูกเชือด ช่วงท้องถูกแหวะออกโดยที่ลำไส้ออกมากองภายนอก
แล้วเขาก็วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากจอร์จ มอริสนายตำรวจปลดเกษียณคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์ในเวลากลางคืน และจอร์จ มอริสยังได้เป่านกหวีดเพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเหตุอีกด้วย ตำรวจอีกสองนายจึงได้มาสมทบ และตำรวจจากนครบาลก็มายังบริเวณรอบที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาฆาตกร
เวลา 0 2.18 น. ดร.เฟรดเดอริก กอร์ดอน บราวน์ก็มาถึงยังที่เกิดเหตุและทำการตรวจพิสูจน์ศพ ช่วงท้องของเธอถูกผ่าออก ใบหน้าของผู้ตายแสดงให้เห็นว่าผู้ตายคงรู้สึกกลัวมาก และเธอคงจะเสียชีวิตภายในครึ่งชั่วโมง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสมิทร์จึงเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างจะสร้างความประหลาดใจ เนื่องจากบริเวณนี้มีตำรวจเดินตรวจตราเป็นระยะๆ ซึ่งนอกจากวัทกินส์ และมอริสแล้ว ก็ยังมีตำรวจอีกสองนายที่คอยเดินตรวจบริเวณโดยรอบในย่านดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็บอกว่าเขาไม่ได้ยินอะไรหรือเห็นใครเลย ยิ่งไปกว่านั้น มีนายตำรวจคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบริเวณจัตุรัส เขานอนหลับสนิทโดยไม่รู้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นด้วยซ้ำ
นี่ย่อมแสดงว่า ฆาตกรพาเหยื่อเข้าไปที่จัตุรัสแล้วลงมือฆ่าเธอโดยเชือดเธออย่างเลือดเย็น และหลบหนีไปภายในเวลา 15 นาที
เวลา 0 2.55 น. นายตำรวจอัลเฟรด ลองก็พบผ้ากันเปื้อนที่มีรอยเลือดผืนหนึ่งบริเวณทางเข้าตึกแห่งหนึ่งบนถนนกูลส์ตันในไวท์ชาเพล และเมื่อเขามองเหนือขึ้นไป บนกำแพงอิฐสีดำของประตูทางเข้าที่มีลักษณะโค้งด้านบนก็ปรากฎตัวอักษรที่เป็นลายมือเขียนด้วยชอล์คสีขาวว่า
คนยิว คือ พวกที่จะไม่ได้รับการตำหนิใด ๆ ทั้งสิ้น
รอยเลือดที่ปรากฎอยู่บนผ้ากันเปื้อนก็เป็นของหญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมที่จัตุรัสมิทร์ และตำรวจก็เชื่อว่าลายมือที่ปรากฎบนกำแพงอิฐสีดำก็เป็นของฆาตกร ตำรวจนายหนึ่งถูกสั่งให้ไปถ่ายภาพข้อความบนกำแพงไว้เป็นหลักฐาน แต่ก่อนที่เขาจะลงมือบันทึกภาพเป็นหลักฐาน ก็ได้มีคำสั่งจากเซอร์ ชาร์ลส์ วอเรนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเวลานั้นให้ลบทำลายข้อความดังกล่าว โดยที่วอเรนได้ชี้แจงเหตุผลที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมาเป็นเวลาหลังจากนั้นกว่า 100 ปี ดังนี้
ข้อความดังกล่าวเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้สัญจรบนท้องถนน และไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาปกปิดข้อความได้ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ถ้าข้อความนี้ยังปรากฎอยู่ก็จะเป็นสาเหตุให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเกลียด และโจมตีชาวยิว ซึ่งจะนำมาทั้งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ฆาตกรลงมือสังหารเหยื่อถึงสองรายในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะเหยื่อรายที่สองที่ถูกฆาตกรรมโดยการตัดอวัยวะช่องท้อง ซึ่งการลงมือนี้ไม่มีผู้ใดพบเห็น และที่สำคัญเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในย่านที่มีการตรวจตราอย่างอย่างเข้มแข็ง รวมถึงการทิ้งข้อความไว้บนกำแพง น่าสงสัยว่าทั้งหมดนี้ฆาตกรทำได้อย่างไร ?
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
หลังจากคดีฆาตกรรมที่ลานดัทฟิลด์แล้ว ตำรวจได้ดำเนินการสอบปากคำผู้คนในละแวกที่เกิดเหตุ และพวกที่ยืนดูการทำงานของตำรวจในวันนั้นด้วย
ผู้ตายเป็นหญิงสาว สูงประมาณ 5 ฟุต 2 นิ้ว ผิวค่อนข้างขาว ผมหยิกเป็นลอนสีน้ำตาลเข้ม เธอสวมชุดสีดำ และมีดอกกุหลาบสีแดงประดับที่เสื้อแจ๊คเก็ต ในกระเป๋าของเธอไม่พบของมีค่าหรือเอกสารใดที่จะระบุได้เลยว่าเธอเป็นใคร
หลังจากนั้นไม่นาน ทางตำรวจก็ทราบว่าผู้ตายชื่ออลิซาเบท สไตรด์ หรือที่คนให้สมญาเธอว่า ลอง ลิซ เธอเกิดที่ประเทศสวีเดนในปี ค.ศ .1843 ต่อมาเธอเดินทางมาทำงานที่อังกฤษ โดยเธอกุเรื่องว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากโศกนาฎกรรมเรือปรินเซส อลิซล่มในปี 1878 เธออ้างว่าสามีและลูกสองคนของเธอได้จมน้ำตาย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทางโบสถ์สวีเดนในกรุงลอนดอน เกิดความสงสารเธอและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธอ
ซึ่งเรื่องจริงกลับกลายเป็นว่า สามีของเธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจาก โศกนาฎกรรมแม่น้ำเทมส์ และเขาก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาในบ้านซอมซ่อแห่งหนึ่ง
ก่อนที่เธอจะถูกฆาตกรรม เธอพักอยู่กับกรรมกรที่ชื่อไมเคิล คิดนีมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเย็บผ้า และรับจ้างทำความสะอาด และแน่นอน ในบางครั้งเธอขายตัวเป็นอาชีพเสริม เธอมีพฤติกรรมที่ชอบดื่มและส่งเสียงเอ็ดตะโรโวยวายบ้างแต่ก็ไม่บ่อยนัก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เธอต้องขึ้นศาลชั้นต้น และทางศาลก็ได้บันทึกพฤติกรรมดังกล่าวไว้มากกว่าหนึ่งครั้ง
เธอได้ออกจากบ้านเช่าในตอนหัวค่ำ และไม่ได้บอกใครเลยว่าเธอกำลังจะไปที่ไหน เธอมีเงินติดกระเป๋าเล็กน้อย ซึ่งเป็นเงินค่าจ้างที่เธอได้จากการทำความสะอาดห้องต่างๆ ในตอนที่เธอออกจากบ้านเช่าไป เสื้อแจ๊กเก็ตที่เธอสวมใส่นั้น ไม่มีดอกกุหลาบประดับอยู่
ดร.ฟิลิปส์ได้แถลงว่าลิซตายเนื่องจากบาดแผลที่คอ แต่ครั้งนี้ไม่มีร่องรอยการบีบคอ ทั้งนี้ฆาตกรอาจจะจับตัวลิซโดยการดึงผ้าพันคอที่คอเธอเพื่อที่จะดึงร่างเธอเข้ามาแล้วทำการปาดคอเธอ ดร.แบล็คเวลล์ ได้บรรยายลักษณะฆาตกรว่าจะต้องเป็น ผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้มีดที่มีน้ำหนัก
ในช่วงเวลานี้ ได้มีพยานหลายปากออกมาแสดงตัวว่าได้พบเห็นลิซก่อนที่เธอจะถูกฆาตกรรม ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายตำรวจวิลเลียม สมิธ
วิลเลียมเห็นลิซพูดคุยกับชายคนหนึ่งในเวลาราวๆ 00.30 น. ... ก่อนเธอจะถูกฆาตกรรมเพียงเล็กน้อย ซึ่งในขณะนั้นเขากำลังเดินเวรยามในบริเวณถนนเบอร์เนอร์ ชายคนดังกล่าวอายุประมาณ 30 ปี สูงประมาณ 5 ฟุต 7 นิ้ว ผิวดำ ผมดำ และหนวดดำ สวมหมวกสักหลาดสีดำ สวมใส่โค้ทดำที่ปกเป็นสีขาว ผูกเนคไทขาว มือทั้งสองข้างถือพัสดุขนาดพอดีมือ
พยานปากเอกอีกคนคือ อิสราเอล สวอร์ท เขาได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่สืบสวนสวอนสันดังนี้
ผมอิสราเอล สวอร์ท พักอยู่เลขที่ 22 ถนนเมลลิน เวลา 00.45 น. ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งหน้าประตูทางเข้าที่มีลักษณะโค้งด้านบน ผู้ชายคนดังกล่าวพยายามที่จะฉุดลากผู้หญิงไปที่ถนน และเขาก็ผลักเธอล้มไปที่ทางเดิน หญิงสาวส่งเสียงร้องสามครั้ง แต่ไม่ดังมาก ซึ่งในขณะนั้นผมกำลังจะข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง ผมก็เห็นผู้ชายอีกคนกำลังยืนสูบไปบ์อยู่ฝั่งตรงข้าม ผู้ชายคนแรกได้ส่งเสียงเรียกผู้ชายคนที่สูบไปบ์ว่า ลิปสกี หลังสิ้นเสียงเรียก ผมก็เดินไปตามทางเรื่อยๆ และก็มารู้สึกตัวว่ากำลังถูกสะกดรอยโดยผู้ชายคนที่สูบไปบ์ ผมจึงวิ่งโกยแนบเท่าที่จะวิ่งได้ แต่ชายคนดังกล่าวก็ไม่ได้วิ่งตามมา
สวอร์ทได้ยืนยันว่าศพผู้หญิงที่ตายเป็นคนๆ เดียวกับผู้หญิงที่เขาเห็น และเขาได้บรรยายลักษณะของผู้ชายคนแรก คนที่ผลักผู้หญิงล้ม ว่ามีอายุประมาณ 30 ปี สูง 5 ฟุต 5 นิ้ว ผิวขาว ผมดำ ไว้หนวดบางๆ สีน้ำตาล ดวงหน้ากลม ไหล่กว้าง สวมแจ๊คเก็ตดำ กางเกงขายาวสีดำ หมวกแก๊ปสีดำ และไม่ได้ถืออะไรในมือ
ส่วนผู้ชายคนที่สอง คนที่สูบไปบ์ อายุราว 35 ปี สูง 5 ฟุต 4 นิ้ว ผิวค่อนข้างขาว ผมสีน้ำตาลอ่อน ไว้หนวดสีน้ำตาล สวมเสื้อคลุมใหญ่กันหนาวสีมืดและสวมหมวกปีกกว้างสีดำ ในมือข้างหนึ่งถือยาเส้น
ตำรวจถือคำให้การของนายตำรวจสมิธและอิสราเอล สวอร์ทเป็นหลักฐานสำคัญ นอกจากนี้ยังมีพยานอีกสองคน คือวิลเลียม มาร์แชลและเจมส์ บราวน์
วิลเลียม มาร์แชลอาศัยอยู่ที่เลขที่ 64 ถนนเบอร์เนอร์ เวลาประมาณ 23.45 น. ของคืนเกิดเหตุ ซึ่งเป็นเวลาก่อนเหตุคดีฆาตกรรมจะเกิดขึ้นเพียง 1 ชั่วโมง 15 นาที เขายืนอยู่ใกล้ ๆ บริเวณที่เกิดเหตุ เขาสามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปพรรณสันฐานของผู้ชายที่ลิซคุยด้วย ผู้ชายคนดังกล่าวอยู่ในวัยกลางคน สวมหมวกแก๊ปลักษณะคล้ายที่พวกกะลาสีเรือสวมใส่ สูงประมาณ 5 ฟุต 6 นิ้ว รูปร่างกำยำ แต่งกายเหมือนเสมียนและพูดจาเหมือนคนได้รับการศึกษา แต่ผมไม่สามารถเห็นหน้าของผู้ชายคนดังกล่าว
ลักษณะรูปพรรณสันฐานของผู้ชายที่อยู่กับลิซ จากให้ปากคำของมาร์แชล นายตำรวจสมิธ และ สวอร์ทนั้นเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ที่ลิซนั้นคุยกับฆาตกรที่ฆ่าเธอก่อนเกิดเหตุ 1 ชั่วโมง 15 นาที
ส่วนเจมส์ บราวน์ให้การว่า เขาเห็นลิซในคืนเกิดเหตุ ราวๆ 00.45 น. ซึ่งขณะนั้นเขาเดินมาถึงบริเวณสี่แยกถนนเบอร์เนอร์ตัดกับถนนแฟร์คลูช เขาเห็นลิซกำลังยืนคุยกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งสูงประมาณ 5 ฟุต 7 นิ้ว สวมเสื้อกันหนาวใหญ่สีดำ และเขายังได้ยินลิซพูดว่า คืนนี้ไม่ได้ ไว้คืนอื่นแล้วกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นเรื่องเวลาที่บราวน์บอกนั้นก็ยังเป็นปริศนาอยู่ เพราะเขาคาดคะเนเองอย่างไม่ใคร่จะแน่ใจนัก
ดูเหมือนคำบรรยายลักษณะของผู้ชายที่คุยกับลิซ จากปากพยานสามคน คือ สมิธ นายตำรวจ มาร์แชล และสวอร์ทนั้น จะเป็นผู้ชายคนเดียวกัน แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ตำรวจพบตัวผู้ต้องสงสัยเลย
คำนำ บทที่1 บทที่2 บทที่3 บทที่4 บทที่5 บทที่6 บทที่7
คดีฆาตกรรมหญิงสาวที่จัตุรัสมิทร์เป็นคดีที่ตำรวจสามารถระบุได้ว่าผู้ตายเป็นใครได้เร็วกว่าคดีอื่นๆ เนื่องจากในตัวผู้ตายมีตั๋วจำนำ ซึ่งเมื่อมีการแจ้งต่อสาธารณชนจอห์น เคลลี่ก็ได้อ้างตัวว่าเขาอยู่กินกับ แคเธอรีน เอ็ดโดวส์มาเป็นระยะเวลา 7 ปี และพักอาศัยที่บ้านเช่าเลขที่ 55 บนถนนฟลาวเวอร์ตัดกับถนนดีน
แคเธอรีน เอ็ดโดวส์หรือที่คนรู้จักเธอจะเรียกเธอว่า แคท เธอเป็นหญิงสาวที่มีมิตรสัมพันธ์ดี จิตใจงาม และร้องเพลงไพเราะ แต่เธอก็เหมือนกับเหยื่อรายอื่นๆ คือ ชอบดื่มเหล้า และเมื่อน้ำเหล้าเข้าสิงก็นำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนๆ และคนในครอบครัวเสมอๆ
แคทถือกำเนิดเมื่อปี 1842 พ่อแม่ของเธอตายตั้งแต่เธอยังเด็ก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พี่น้องกระจัดกระจายกันไป เมื่อเธออายุ 16 ปี เธอได้พบรักกับโทมัส คอนเวย์และได้ไปอยู่กินกับเขาฉันสามีภรรยาเป็นเวลากว่า 20 ปี ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสามคน แต่เนื่องจากคอนเวย์มีลักษณะชอบทำร้ายร่างกายแคท และตัวแคท เองก็มีปัญหาการดื่มเหล้า จากสองประเด็นนี้จึงทำให้ทั้งคู่แยกทางกันในปี 1880 หลังจากนั้นหนึ่งปี แคทก็พบกับจอห์น เคลลี่และเขาก็ใช้ชีวิตร่วมกับเธอจนเธอเสียชีวิต
เพื่อนๆ ของแคทยืนยันหนักแน่นว่าแคทไม่ใช่โสเภณี แต่ก็อาจจะมีบางเวลา เวลาที่น้ำเมาครอบงำสติสัมปชัญญะเธอ ทำให้เธอลืมตัวจนกลายเป็นเป็นโสเภณีบ้างในบางคราว
เวลาเย็นของวันก่อนที่แคทจะตาย เธอบอกกับเคลลี่ว่าเธอจะไปหาลูกสาวเพื่อขอยืมเงิน ซึ่งเคลลี่ก็ยังเตือนเธอให้ระวังนักฆ่าแห่งไวท์ชาเพลและขอให้เธอรีบกลับบ้าน
คุณไม่ต้องมากลัวแทนฉันหรอก ฉันดูแลตัวเองได้ ฉันไม่ตกเป็นเหยื่อของมันหรอก เธอให้ความมั่นใจกับเคลลี่
แคทไม่ได้ไปบ้านลูกสาว แต่เธอหาเงินได้พอที่จะซื้อเหล้ากินจนเมาแอ้ และไปจบที่คุกของสถานีตำรวจบนถนนบิชอปสเกท จนกระทั่งเวลาประมาณ 00.30 น. นายตำรวจฮัทท์ก็ปล่อยเธอกลับบ้าน และเธอยังได้ถามเวลาเขาก่อนออกจากคุกด้วย
จัตุรัสมิทร์อยู่ห่างจากบริเวณสถานีตำรวจโดยการเดินเพียง 8 นาทีเท่านั้น
การตายของแคทก็เหมือนกับการตายของพอลลี นิโคลส์ และแอนนี่ แชพแมน บริเวณลำคอของแคทถูกปาดเป็นแนวลึกจากด้านซ้ายไปด้านขวา และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แคทสิ้นใจ
จากคำให้การของดร. โบลว์ แพทย์นิติเวช ช่องท้องของผู้ตายถูกเปิดออกตั้งแต่ร่องกลางอกไปจนถึงหัวหน่าว ส่วนของลำไส้ใหญ่ทั้งหมดถูกตัดแยกออกจากร่าง และลำไส้ใหญ่บางส่วนถูกตัดทิ้งไปประมาณสองฟุต ผนังกระเพาะอาหารถูกเลาะ ไตข้างซ้ายถูกตัดไป ด้วยความประณีตบรรจง เส้นเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงไตข้างซ้ายก็ถูกตัดขาด ผมคิดว่าคนลงมือจะต้องเป็นผู้ที่รู้ตำแหน่งของอวัยวะไตเป็นอย่างดี ตัวมดลูกลูกตัดออกไปพร้อมกับเอ็นยึดในแนวขวาง ซึ่งยังคงเหลือส่วนของมดลูกติดร่างเพียง ? นิ้ว ไม่พบบาดแผลในส่วนของช่องคลอดและปากมดลูก และเขาก็ได้กล่าวเพิ่มเติมอีก ส่วนของใบหน้าถูกทำให้เสียโฉมอย่างมาก มีรอยกรีดยาว ? นิ้ว ผ่านหนังตาล่างด้านซ้าย ส่วนหนังตาด้านขวามีรอยกรีดยาวครึ่งนิ้ว มีรอยกรีดลึกตั้งแต่ส่วนสันจมูก ยาวผ่านโพรงจมูกด้านซ้าย ตัดผ่านมาถึงมุมขากรรไกรด้านขวา สภาพจมูกอยู่ในลักษณะรุ่งริ่ง
ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายศพเพื่อไปเก็บยังสถาบันนิติเวช ใบหูข้างขวาของเธอก็ได้หลุดล่วงลงมาด้วย
โจเซฟ ลาเวนด์ พยานคนสำคัญในคดีนี้ ได้ให้การว่าเขาและเพื่อนอีกสองคนเดินออกจากอิมพีเรียล คลับในเวลาประมาณ 01.35 น. ทั้งสามเห็นผู้ชายกับผู้หญิงคู่หนึ่งคุยกันในบริเวณใกล้ๆ กับจัตุรัสมิทร์
ลาเวนด์ได้บรรยายลักษณะของผู้ชายว่าเป็นชายหนุ่ม สูงปานกลาง ไว้หนวดขนาดเล็ก สีอ่อนๆ สวมแจ็กเก็ตสีดำ ใส่หมวกที่มีชายปิดมาถึงหู ซึ่งสามารถพับขึ้น-ลงได้ แต่เขาไม่เห็นหน้าของผู้หญิงคนดังกล่าว แค่สามารถระบุได้ว่า เสื้อผ้าที่ผู้หญิงคนนั้นใส่เป็นชุดเดียวกับแคท หลังจากนั้นอีก 9 นาที คดีฆาตกรรมก็เกิดขึ้น
อีกกว่า 1 ชั่วโมงต่อมา ที่ถนนกูลส์ตันได้พบชิ้นส่วนผ้ากันเปื้อนของแคทที่มีคาบเลือดติดอยู่ และข้อความบนกำแพงที่เขียนด้วยชอล์กว่า คนยิว คือพวกที่จะไม่ได้รับการตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น แปลว่าคนยิวไม่เกี่ยว(โว๊ย)
ฟิลิป ซุคเด็น ได้วิเคราะห์ตีความ ความเป็นไปได้ของข้อความดังกล่าวไว้ 3 ประเด็น คือ