มุมมอง 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์'
 สัมภาษณ์โดย กีรติ ชนา   บทสัมภาษณ์ในหนังสือเขียนนิยาย

 

        ระหว่างนิยายชีวิต นิยายรัก นิยายวิทยาศาสตร์ และนิยายเยาวชน ซึ่ง ‘ วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์’ เขียนทั้ง 4 ประเภทนั้น ความแตกต่างของการสร้างพล็อตและการดำเนินเรื่องประเภทใดต้องใช้เวลามากที่สุดและชอบเขียนแบบใดที่สุด
            
       การสร้างพล็อตเรื่องของเรานั้นใช้เวลาไม่นานมากนัก เพราะมักเอาเรื่องจริงที่ทราบหรือประสบมาผสมผสานกับจินตนาการร้องเรียงเป็นนิยาย เมื่อได้พล็อตหลักอันโยงเข้ากับธีม (Theme) ของเรื่องแล้วจึงหาพล็อตรองมาสนับสนุน โดยต้องแน่ใจว่าเราจะใช้มุมมอง(Point of View) แบบใดในการเขียน จากนั้นก็พยายามทำให้เกิดความขัดแย้ง(Conflict) แรงๆ พยายามสร้างให้เป็นเส้นกราฟ พยายามสร้างเป็นกราฟแบบขึ้นลงสลับกัน(Fluctuation) ตลอดเวลา

       
ที่สำคัญคือต้องพยายามผูกโยงจับจูงให้คนอ่านคล้อยตามและเกิดความสนเท่ห์ให้ได้ ซึ่งอันนี้เป็นความสามารถทางภาษาว่าจะสามารถบรรยายออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนเพียงใด

       ในนิยาย 4 ประเภท เรานิยมการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะสามารถแหวกม่านจินตนาการได้กว้างไกลมากที่สุด เริ่มจากหาข้อมูลจาก Textbook เป็นข้อมูลสร้างจินตนาการกับตนเอง สร้างพล็อต หาธีมหลักให้ได้ รู้ตอนต้นเรื่อง เบื้องต้น และตอนจบของเรื่อง เรื่องทั้งหมดก็จะดำเนินไปได้โดยราบรื่น
       

 

 

      การสอนในมหาวิทยาลัยเป็นงานหลักได้พบกับนักศึกษามากมายได้รับรู้เรื่องราวและความนึกคิดของเยาวชนมีส่วนช่วยในการเขียนนิยายหรือไม่
       
       การเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย สำหรับเราแล้วเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เราเคยเขียนเรื่องราวในมหาวิทยาลัยที่เราเคยเรียนและเราเคยสอนรวมเล่มแล้ว 4 เล่ม งานสอนกับงานเขียนอันที่จริงก็เป็นงานแบบเดียวกันคือเป็นครู เป็นผู้ให้วิทยาการต่างๆ ในความรู้สึกของเรางาน 2 อย่างนี้จึงไม่แตกต่างกัน

       ความเป็นคนสอนหนังสือและความเป็นคนเขียนหนังสือล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยศิลปะทั้งสิ้น ทั้งสองงานคือศิลปะแห่งการถ่ายทอด ดังนั้นงานสอนของเราก็เสริมงานเขียนและงานเขียนของเราก็เสริมงานสอนได้ตลอดเวลา งานสอนหนังสืออาจเป็น Two Way Communication แบบฉับพลันทันที แต่งานเขียนส่วนใหญ่เป็น One Way Communication ที่การตอบรับ(Feed back) อาจต้องใช้เวลาและต้องอดทนอย่างมาก แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับทั้งสองงาน ในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล เราคงวางมือจากงานสอนมาเขียนหนังสือเต็มเวลา เพราะเป็นอาชีพที่เรารักที่สุดในโลก

      นานมาแล้ว วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ เคยให้สัมภาษณ์ (ทีเล่นทีจริง) ว่า ที่เขียนนิยายก็เพราะอยากดัง ขอเรียนถามว่า วันนี้ยังตอบเช่นนั้นอยู่หรือไม่ และวันนี้จะรู้สึกอย่างไรถ้ามีผู้อ่านมาบอกว่าจำนิยายเรื่อง ‘ ซากดอกไม้’ (ที่คุณวีรวัฒน์เขียน) ได้ไม่ลืม แต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เขียน (ตัวอย่างเช่นเรื่อง ‘ ชั่วฟ้าดินสลาย’ ซึ่งเป็นนิยายอมตะ 8 ใน 10 คนที่ถูกถามว่าใครเป็นผู้เขียนตอบไม่ได้แต่รู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร)     

       เรามาเป็นคนเขียนหนังสือเพราะเราอยากดัง ตอนนี้ก็ยังคิดเช่นนั้นอยู่(เราอยากตอบอย่างจริงใจ) ความดังมีหลายระดับ เราเข้าวงการนี้โดยไม่รู้จักใครสักคนเดียว 19 ปีเต็มเราอยู่มาได้อย่างทุกวันนี้เราพอใจแล้ว นี่คือความหมายว่าอยากดังของเรา เราไม่ได้ต้องการดังขนาดซูเปอร์สตาร์ต่างๆ เพราะเราไม่ใช่ดารา เราเป็นคนธรรมดา ทุกวันนี้เวลามีใครพูดถึงงานเราหรือตัวเรา เราก็ถือว่าได้ดังแล้ว ดังนั้นจึงพอใจ เขียนหนังสือได้อย่างมีความสุข ไม่เจ็บไม่ปวดอะไร อันที่จริงเราไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่เขียนหนังสือเป็นงานที่เรารักที่สุด เราได้ระบายสิ่งต่างๆ ออกมา เราก็พอใจ อาจเป็นเพราะวัยเด็กเราเก็บกด เราเป็นคนอารมณ์แปรปรวนรุนแรง อ่อนไหวง่าย (Sensitive มาก) ดังนั้นงานเขียนจึงเหมาะกับเราที่สุด อันที่จริง(อีกครั้ง) นักเขียนที่ดังแบบดารา เดินไปไหนก็มีคนรู้จัก ในประเทศนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่ใช่เราเท่านั้นเอง(ลองคิดดูสิว่ามีใครบ้าง)
       

                                                                                    

 

 

 

อ่านต่อ มุมมอง 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์' หน้าถัดไป>>