มุมมอง 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์'
 สัมภาษณ์โดย กีรติ ชนา   บทสัมภาษณ์ในหนังสือเขียนนิยาย

 

          

     ความรู้สึกที่ผู้อ่านจำ ‘ ซากดอกไม้’ ได้ไม่ลืม แต่จำชื่อคนแต่งไม่ได้ ไม่รู้ว่าเป็นใคร(พิศวงมาก) สำหรับเราเป็นเรื่องธรรมดามาก และเราก็ภูมิใจที่เราเป็นคนปั้นซากดอกไม้ขึ้นมาด้วยมือเรา เราไม่เคยเสียใจกับเรื่องราวแบบนี้ เพราะเราเป็นคนมีประสบการณ์ในวงการนี้ 19 ปี เราพบเจออะไรมาก หัวใจเราเสริมใยเหล็ก ดังนั้นจึงแข็งแกร่งพอที่จะไม่เจ็บไม่ปวดอะไรกับการดำรงชีพเป็นนักประพันธ์ เราดีใจที่เราได้เป็นนักเขียน (อันที่จริง เราเขียนตั้งแต่ ป.4 โดยแต่งเรื่องจากภาพลงในสตรีสาร ดังนั้นเราเขียนมาแต่เล็กแต่น้อย เรื่องแค่นี้ขี้ประติ๋วมากสำหรับเรา) ดังนั้นถ้ามีคนสนับสนุนส่งเสริมและโปรโมทเราอย่างเป็นงานเป็นการ เราก็สามารถเป็นที่รู้จัก โด่งดังได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เดินไปไหนก็มีคนจำเราได้ ถึงตอนนั้นเราก็คงดังขนาดซูเปอร์สตาร์แล้ว (ซึ่งในความจริงก็มีนักเขียนที่มีลักษณะแบบนี้อยู่ไม่ใช่หรือ? เช่น อาจใช้ความมีอายุน้อย หรือลีลาการ TalkShow เป็นจุดขายนี่ก็เป็นตัวอย่างนักเขียนดังเปรี้ยงปร้างอีกแบบหนึ่ง) ของเราเป็นแบบดังมาเรื่อยๆ น้ำนิ่งไหลลึก น้ำซึมบ่อทราย รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ต่างๆ ก็เคย ไปออกมาแล้ว (ได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ก็ได้แล้ว เกือบทุกมหาวิทยาลัยก็บรรยายมาหมดแล้ว) นี่คือความพอใจในระดับความดังของเราที่เราทำของเรามาได้ด้วยตัวเองจริงๆ
          

          

 

        เมื่อมีนักศึกษามาปรึกษาว่าอยากเขียนนิยาย อยากเป็นนักประพันธ์ อาจารย์แนะนำอย่างไร สนับสนุนหรือยับยั้งความคิดนั้น

       เราอยากสนับสนุนให้ประเทศไทยมีนักประพันธ์ หรือนักเขียนดีๆ เยอะๆ เพราะนั่นแปลว่าประเทศเรามีนักคิดมาก ประเทศเราจะพัฒนาได้ดีและเร็วกว่านี้ ความเป็นนักคิดย่อมเกิดจากความเป็นนักอ่าน มีคนอ่านหนังสือในประเทศมากๆ อาชีพนักเขียนก็สามารถอยู่ได้อย่างหอมปากหอมคอ ไม่จำเป็นต้องไส้แห้งหรือท้องกิ่วต่อไป ส่วนนักศึกษาผู้นั้นจะเป็นนักเขียนอาชีพได้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความพยายาม การแสวงหาความรู้ ความอดทน การเอาจริงเอาจัง รวมถึงโชควาสนาของแต่ละคนด้วย อันนี้เราบอกไม่ได้
                                                                                    

 

 

ในชีวิตของนักประพันธ์ทุกคนจะมีนิยายที่ทำให้ตนอยากเป็นนักประพันธ์ นิยายเรื่องใดคือนิยายเรื่องนั้นของ วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์

       เราอ่านนิยายเรื่อง ‘ จดหมายถึงเพื่อน’ ของ ‘ คุณ วาณิช จรุงกิจอนันต์’ ในปีเดียวกับที่ ‘ ซอยเดียวกัน’ ได้ซีไรต์ ซึ่งปีนั้นเราเอนทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พอดี คุณวาณิชมาพูดที่หอสมุดกลาง เราไปนั่งฟัง โปรดทราบคุณวาณิช(พ.ศ.2527) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราปรารถนาอยากเป็นนักเขียน

     และที่เราอยากดัง ก็เพราะคุณวาณิชอีกเหมือนกัน (ถามจริงๆ เถอะ แล้วเราผิดตรงไหนที่เราเขียนหนังสือ เพราะเราอยากดังนี่น่ะ) คำตอบนี้เป็นการเปิดเผยที่นี่เป็นที่แรก

 

มุมมองของ 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์'

บทสัมภาษณ์ในหนังสือเขียนนิยาย
สัมภาษณ์โดย กีรติ ชนา

สำนักพิมพ์ ทวิกิติ์ (2547)
ราคา 350 บาท

 

 

 

<< หน้าแรก  มุมมอง 'วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์'