คมปากกา ลีลาการเขียน "วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์"
 สัมภาษณ์โดย ยูร   บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร กุลสตรี

 

        วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์อาจจะโชคดีกว่านักเขียนหลายๆ คน ตรงที่ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาคือ “ สวนทาง” เมื่อส่งไปยังนิตยสารสตรีสารเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ได้ลงพิมพ์สมใจ จากนั้นเขาก็มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการพิมพ์รวมเล่มไปแล้วมากมายทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี รวมทั้งนิทานประกอบภาพ

        หากงานเขียนที่โดดเด่น อันเสมือนบ่งชี้ถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาก็คือนิยายวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย ได้แก่ สรวงสังเคราะห์ พิจิก ดีเอ็นเอ เร้นพลบ เด็กหลอดแก้ว กลมนุสส์ ฯลฯ ซึ่งถือได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย

        ในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องใช้จินตนาการอันกว้างไกลไร้ของเขตนั้น เขาได้บอกเล่าว่า บางเรื่องก็มีที่มา ขณะที่บางเรื่องไม่มีที่มา

       “ การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของผมส่วนใหญ่จะหาจากพวกสารคดีด้านวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นจะมาจินตนาการต่อว่า ถ้าไม่เป็นแบบนี้ มันจะเป็นแบบไหน อย่างเขียนเรื่องมนุษย์ต่างดาว ในความคิดของเรามนุษย์ต่างดาวน่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มันยังไม่มีใครบอกได้ว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง “

 

        สำหรับผู้ที่ต้องการจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นั้น เขามีความเห็นในเรื่องพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ว่า

       “ ก็น่าจะมีส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะว่าบางคนอาจจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในมิติของสังคมศาสตร์ มันก็จะแตกต่างไปตรงที่เรื่องสั้นหรือนวนิยายของเขา มันเป็นเชิงสังคมศาสตร์ อาจจะมีเหตุมีผลในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่ว่าต้องเรียนทางสายวิทยาศาสตร์จึงจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้ บางทีอาจจะเขียนดีกว่าคนเรียนสายวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะว่ายิ่งรู้มาก บางทีไปอิงกับหลักความจริงพออิงกับหลักควาจริงซะแล้ว จินตนาการมันก็หดหายไปได้ “
                                                                                    

 

 

วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ยอมรับว่าช่วงแรกของการเขียนยังไม่เกิดการเรียนรู้ เป็นการเขียนไปตามธรรมชาติ ไม่รู้ว่าการเขียนที่ดีเป็นอย่างไร จนกระทั่งมาเข้าใจในช่วงหลังที่เริ่มศึกษามากขึ้น

       “ ก็เริ่มรู้ว่าการเขียนเรื่องที่ดี มันจะต้องมีแก่นเรื่องที่จะนำเสนอว่าจะนำเสนออะไร ลักษณะของแก่นเรื่อง จะสร้างไว้ในพล็อตอย่างไร แล้วมันจะต้องมีความขัดแย้ง หรือ conflict เกิดขึ้นภายในเรื่อง ในขณะเดียวกันมุมมองของคนเขียนก็เป็นเรื่องสำคัญ นั่นคือ จะต้องมีมุมมองที่ชัดเจนว่า จะเอาใครเป็นตัวเล่าเรื่อง จะเล่าผ่านคนเขียนหรือผ่านตัวเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามุมมองเปลี่ยนไปจะทำให้เรื่องนั้นเกิดความสับสนด้วยตัวของมันเอง “

        นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์วัยหนุ่มผู้นี้ให้ข้อแนะนำในเรื่องการใส่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เข้าไปในเรื่องว่าจะขึ้นอยู่กับ ...

      “ เราวางแก่นขงเรื่องไว้อย่างไร สมมุติว่าถ้าเป็นเรื่องของความรัก ผมว่าถ้าใส่ข้อมูลเยอะเกินไป ซึ่งคนอ่านกลุ่มนี้จะชอบเรื่องเบาๆ อ่านจบแล้วเพลิดเพลิน สร้างความฝัน คนกลุ่มนี้จะไม่รับหรือรับไม่ได้ นิยายวิทยาศาสตร์ที่มีข้อมูลเยอะๆ หรืออ้างอิงความเป็นจริง ส่วนใหญ่จะเครียด การใส่ข้อมูลมากหรือน้อย ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนนักเขียนเอง

       นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีในแนวคิดของผม คือ น่าจะสร้างยอดหรือต่อยอดของคนอ่านออกไปได้คือ สามารถทำให้คนอ่านจินตนาการต่อไปได้อีกว่า หลังจากอ่านจบแล้ว จริงๆ เขาทิ้งท้ายอะไรไว้ แล้วอยากสร้างภาพอะไรให้เกิดขึ้นต่อไปอีก ถ้าคนอ่านเป็นเยาวชน เขาก็อาจจะหันมาสนใจเรื่องสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือแพทย์ศาสตร์ เขาเรียกว่าใช้นิยายวิทยาศาสตร์เป็นหัวหอกในการนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ของเยาวชนรุ่นใหม่ของไทย “
                                                                                    

 

 

อ่านต่อ  คมปากกา ลีลาการเขียน "วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์" หน้าถัดไป>>